การส่งออกของไทยช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทส่งออกได้แล้วกว่า 6.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ล่าสุด (27 ก.ย. 65) เงินบาทอ่อนค่าซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกกับการส่งออกของไทย ทำสถิติอ่อนค่ามากสุดรอบ 16 ปี แตะที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในประเทศได้อานิสงส์จากรายได้รูปเงินบาทเพิ่มขึ้น เป็นอีกตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารหลายกลุ่มของไทยมั่นใจการส่งออกปีนี้จะขยายตัวสูงและทำได้ตามเป้าหมาย
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า คาดไทยจะส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตันตามเป้าหมายในปีนี้ ปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ที่สำคัญยังได้ตลาดอิรักที่กลับมาซื้อข้าวไทยอีกครั้งในรอบ 7 ปี จากก่อนหน้านี้มีบางบริษัทส่งข้าวที่ไม่มีคุณภาพให้อิรัก ทำให้ข้าวไทยถูกบอยคอต โดยคาดทั้งปีนี้เฉพาะอิรักประเทศเดียวจะมีการนำเข้าข้าวไทย 1.0-1.2 ล้านตัน
ขณะที่ นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ปีนี้ทางสมาคมฯตั้งเป้าส่งออก 9.4-9.5 แสนตัน จากปี 2564 ส่งออก 9.1แสนตัน มูลค่า 1.02 แสนล้านบาท โดยเชิงปริมาณจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1-2% ส่วนด้านมูลค่าคาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 20% จากปีนี้ราคาไก่สดแช่แข็งในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 30-40% เนื่องจากหลายตลาดเสี่ยงขาดแคลนอาหาร ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่ม ประกอบกับผู้ส่งออกได้ปรับราคาสินค้าตามต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
“ปีนี้ในหลายตลาดมีความต้องการสินค้าไก่เพิ่ม เช่น ยุโรป มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงตลาดใหม่ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่มีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งเวลานี้มีโรงงานไก่ไทยได้รับอนุญาตส่งออกไปซาอุฯแล้ว 11 โรง ขณะที่ตลาดจีนที่เราถูกแบนนำเข้าชั่วคราวจากความเสี่ยงเรื่องโควิด 21 โรง เวลานี้กลับมาส่งออกได้แล้ว 9 โรง คาดเร็ว ๆ นี้อีก 12 โรงงานจะสามารถส่งออกได้ครบ ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้รายรับรูปเงินบาทของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น คาดปีนี้ทุกโรงจะมีกำไร 5-10%”
ส่วนในสินค้าทูน่ากระป๋อง นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า คาดปีนี้การส่งออกทูน่ากระป๋องจะส่งออกได้ 7.5-8 หมื่นล้านบาท จากปี 2564 ส่งออก 5.6 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวมากกว่า 30% จากเป็นสินค้าจำเป็น ราคาไม่สูง ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันที่โลกขาดแคลนอาหาร เงินเฟ้อ และครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี และคาดปีนี้จะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย อาทิ ยางพารา คาดขยายตัว 7% (8 เดือนแรกส่งออก 1.27 แสนล้านบาท +15%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คาดขยายตัว 7% (8 เดือนแรกส่งออก 1.04 แสนล้านบาท +28%), น้ำตาลทราย คาดขยายตัว 100% (8 เดือนแรกส่งออก 8.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 183%) เป็นต้น