ปี 2565/66 คาดการณ์ไทยจะมีผลผลิตมันสำปะหลัง 35.80 ล้านตัน สูงสุดในอาเซียน จากปริมาณน้ำฝนเพียงพอ เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์คุณภาพดี หัวมันมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีเชื้อแป้งสูงขึ้น รวมถึงการควบคุม ป้องกัน และการจัดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตต่อไร่ จากเฉลี่ยที่ 3.408 ตันต่อไร่ ปรับขึ้นมาเป็น 3.446 ตันต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 1.12% อย่างไรก็ดีนับถอยหลัง อีก 3 เดือนจะสิ้นสุดปี 2565 ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของตลาดต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง
นายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์มันสำปะหลังโดยรวมในเวลานี้ยังไม่ใช่ช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ก็จะมีมันสำปะหลังบางส่วนออกสู่ตลาด จากฝนตกค่อนข้างดี มีเกษตรกรบางรายรีบขุดมันขาย เพราะกลัวน้ำขังผลผลิตเน่าเสีย ขณะที่ฤดูการเก็บเกี่ยวจริง ๆ จะหลังหมดฝนแล้ว ประมาณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงมกราคม เป็นต้นไป
ส่วนสถานการณ์ตลาดในตอนนี้ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีความต้องการของตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก ผลพวงจากสถานการณ์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ธัญพืชโลกขาดแคลน มีผลให้ในรอบปีที่ผ่านมาในโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินชดเชยจากราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน และคาดในปีการผลิต 2565/66 ที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการประกันรายได้มันฯ เป็นปีที่ 4 ก็คงไม่ได้จ่ายชดเชย
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปี 2565 ในส่วนของมันเส้นถึง ณ วันที่ 19 กันยายน ส่งออกได้แล้วประมาณ 6 ล้านตัน ถือเป็นสถิติใหม่ จากถึงเดือนสิงหาคมส่งออกได้กว่า 4 ล้านตัน เมื่อพิจารณาจากสต๊อกของผู้ประกอบการที่เหลือปีนี้คาดจะส่งออกได้ถึง 7 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนแป้งมันส่งออกแล้วประมาณ 4 ล้านตัน และยังส่งออกไปได้เรื่อย ๆ ต้องลุ้นว่าจะไปจบที่ตัวเลขใด จากความต้องการของคู่ค้ายังมีอย่างต่อเนื่อง
ในปีหน้า คาดการอนาคตมันสำปะหลังไทยยังสดใส ส่วนหนึ่งทางสมาคมได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการขยายตลาดใหม่ อาทิ จัดประชุมเจรจาขยายตลาด (ออนไลน์) เดือน ม.ค. 65 - ปัจจุบัน จีนตอนใต้ (เซี่ยะเหมิน) มีการนำเข้ามันเส้นจากไทย 1 ล้านตัน, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองเจดดาห์ แจ้งว่าผู้นำเข้าซาอุดีอาระเบียต้องการมันอัดเม็ด 10,000 ตัน เช่นเดียวกันกับ สคต.หนานหนิงแจ้งว่าผู้นำเข้าจีนสนใจมันเส้น/มันอัดเม็ดจำนวนมาก เป็นต้น ซึ่งเวลานี้มีผลตอบรับกลับมาค่อนข้างดี มีทั้งในส่วนนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
“มันสำปะหลังของไทยไม่พอใช้ มีการนำเข้าค่อนข้างมาก ปีหนึ่งไทยผลิตได้ประมาณ 30-32 ล้านตัน แต่ตัวเลขที่ใช้จริงประมาณ กว่า 40 ล้านตัน ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาหนึ่งในแหล่งปลูกใหญ่ จากที่ทางภาคเอกชนออกสำรวจเกือบจะทุกพื้นที่ของจังหวัด จากปีนี้สภาพดินฟ้าอากาศค่อนข้างเอื้ออำนวย มีฝนตกชุก ต้นมันเจริญเติบโตได้ดีและแข็งแรง ทำให้สามารถต้านทานโรคใบด่างได้ เพราะฉะนั้นปีนี้ประเมินผลกระทบคงไม่มาก”
แต่สิ่งที่น่าห่วงในอนาคต คือจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะเกิดภาวะฝนแล้ง เกรงโรคใบด่างระบาดจะกลับมาอีก เพราะโรคยังแทรกซึมอยู่หลายพื้นที่ ซึ่ง 4 สมาคมที่เกี่ยวกับมันสำปะหลังได้พยายามแจ้งเตือนภาครัฐให้เร่งแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นหากผลผลิตเสียหาย การจะรักษาตลาดส่งออกเดิมหรือไปเปิดตลาดใหม่จะเสียโอกาส
สอดคล้องกับ นายรังษี ไผ่สะอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 21 กันยายนนี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ครั้งที่ 1/2565 โดยจะมีวาระการพิจารณาที่ทางสมาคมได้เสนอไปในเรื่องของบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคใบด่างให้ลดน้อยลงใน 5 มาตรการ ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคใบด่างมันสำปะหลัง ให้ครอบคลุมพื้นที่ครบทุกจังหวัดที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค
2.โครงการสนับสนุนท่อนพันธุ์สะอาดทนทานต่อโรคใบด่างฯ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง (พื้นที่สีแดง) และขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาด เพื่อให้เกษตรกรไม่นำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกในฤดูกาลต่อไป
3.โครงการสนับสนุนการคัดเลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดด้วยตัวเกษตรกรเอง ในพื้นที่ ที่ระบาดไม่รุนแรงมาก (พื้นที่สีส้ม สีเหลือง) และ 4.โครงการสร้างแปลงขยายพันธุ์ทนทานต่อโรค เป็นธนาคารท่อนพันธุ์ของทุกพื้นที่จังหวัดที่เกิดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อให้เกษตรกรได้มีแหล่งท่อนพันธุ์สะอาดในพื้นที่ใกล้ ๆ ไว้ขยายพันธุ์ต่อไป
และ 5.ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมกับสถาบันวิชาการต่าง ๆหลายสถาบัน จัดทำโครงการศึกษาค้นคว้าวิจัยพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง การผลิตและขยายต้นพันธุ์ทนทานต่อโรค ตลอดจนการควบคุมการระบาดของโรคด้วยเทคโนโลยี
ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ 55 จังหวัดและเกี่ยวข้องกับอาชีพปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร 7 แสนกว่าครัวเรือน ให้ประกอบอาชีพต่อไปได้ และช่วยรักษาเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ล่มสลาย และขาดรายได้เข้าประเทศอีกปีละหลายแสนล้านบาท ดังนั้นก็หวังว่าในวันดังกล่าวทาง คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังจะพิจารณา และเสนอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายมันสำปะหลัง (นบมส.) ได้พิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อฤดูกาลปลูกปี 2565/2566 ด้วย
ด้านแหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยถึงการส่งออกมันเส้น และมันอัดเม็ดของประเทศไทยใน เดือนสิงหาคม 2565 ใน 5 อันดับแรกได้แก่ บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด (บจก.), บจก.ทาปิโอก้า อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, บจก.ซี.เค กรุ๊ป อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต, บจก.ทรัพย์สถาพร และบจก.แสงฟ้าอะกริโปรดักส์ และผู้ส่งออกรายอื่น ๆ รวมกัน 18 รายส่งออกได้เดือนเดียวกว่า 4 แสนตัน(กราฟิกประกอบ)
ทั้งนี้ บจก.ทาปิโอก้า อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ยังรั้งอันดับ 1 ปริมาณส่งออก (ม.ค.-ส.ค.65) 1.28 ล้านตัน และอันดับ 2 บจก.สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร 1.24 ล้านตัน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,820 วันที่ 22 -24 กันยายน 2565