นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี โดยแตะทะลุ 37 บาทกว่าต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น สะท้อนว่ามีเงินทุนไหลออก เพียงแต่เป็นการไหลออกจากการลงทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากสหรัฐมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อต้องการสกัดเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกัน ความต่างของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังดึงดูดเม็ดเงินจากประเทศต่าง ๆ ให้ไหลเข้าสหรัฐ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนี้ก็ยังถือว่าไม่อ่อนเกินไปหากเทียบกับกับหลาย ๆ ประเทศ และไทยก็ไม่ได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันเท่าไรนัก เพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ก็มีการอ่อนค่าลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ต้องจับตามมองความเคลื่อนไหวของเฟดอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และคาดว่าดอกเบี้ยจะขึ้นไปถึงประมาณ 4.5% ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินของประเทศต่าง ๆ อ่อนค่าลงอีก รวมถึงประเทศไทยด้วย
แม้ว่าทิศทางของเฟด จะยังขยับดอกเบี้ยขึ้นไปอีกประมาณ 1.25% ในปีนี้ แต่บ้านเราก็ยังมีการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งเช่นกัน คือในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะมีการขยับดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 0.5% แน่นอนว่าภาคเอกชนและประชาชนจะต้องมีการปรับตัว เพราะเมื่อเศรษฐกิจในประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว ก็จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามมา ซึ่ง ธปท.เองก็สามารถใช้อัตราดอกเบี้ยนี้เป็นเครื่องมือควบคุมไม่ให้บาทอ่อนจนเกินไป เชื่อว่าปลายไตรมาสที่ 4 ค่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในกรอบ 36.5-37.0 บาท
“ค่าเงินบาทในขณะนี้ยังเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และมีแนวทางการรับมือที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการนำเข้าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อต้นทุน ดังนั้น ภาคเอกชนต้องหาวิธีบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ในขณะที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวประมาณ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาเรล จึงไม่สร้างแรงกดดันมากนัก
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมในระยะปานกลาง ควรอยู่ในระดับ 35-36 บาท ซึ่งจะเป็นระดับที่ดีต่อการส่งออก และไม่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้มีความผันผวน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่า ธปท.ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว” นายสนั่น กล่าว
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยมองว่า แม้ว่าค่าเงินบาทที่อ่อนจะกระทบต่อภาคการนำเข้า แต่กลับเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ ในขณะเดียวกัน ภาคการส่งออก ภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยว จะได้รับอานิสงส์ที่ดีจากสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่หนีอากาศหนาวมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในช่วงปลายปี รัฐบาลจีนอาจจะเริ่มผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้มากขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว การท่องเที่ยวภายในประเทศคาดว่าจะคึกคักมากขึ้นจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่จะใช้ได้จนถึงปลายเดือนตุลาคม รวมทั้งการผ่อนคลายเรื่องโควิดที่มากขึ้นในบ้านเรา เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีน่าจะถึง 10 ล้านคน หรืออาจมากถึง 12 ล้านคน จึงมองว่า ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนนั้น โดยสุทธิแล้วจะยังเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เชื่อว่า GDP ไทยในปีนี้จะยังเติบโตได้ 2.75–3.50% ตามกรอบที่ภาคเอกชนได้คาดการณ์ไว้
"ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นนี้ด้วย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา จำนวนแรงงานในภาคท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงสายการบินลดลงไปเป็นจำนวนมาก อาจเป็นอุปสรรคในการรองรับการท่องเที่ยว ดังนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายในการเปิดประเทศที่ชัดเจนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งเตรียมความพร้อมของสายการบินแห่งชาติ และสายการบินเอกชนอื่น ๆ ให้มีความเข้มแข็ง และเมื่อสายการบินต่าง ๆ เห็นโอกาสจากนโยบายที่เอื้ออำนวยนี้แล้ว ก็จะกลับเข้ามาดำเนินการมากขึ้น"
นอกจากนี้การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแข่งขันกับเวียดนาม ที่ขณะนี้เป็นที่สนใจของต่างชาติอย่างมาก ดังนั้น เราต้องมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนของต่างชาติ เพื่อเป็นปัจจัยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยคนไทยจะได้ประโยชน์ทั้งในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมไปถึงการจ้างงาน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามา 1 ล้านคน จะทำให้มีเงินหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งช่วยกระตุ้น GDP ได้ประมาณ 2-3%
“ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเผชิญกับต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้นหลาย ๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็น ราคาพลังงาน วัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมไปถึงปัญหาเงินเฟ้อ ช่วงเวลาต่อจากนี้ อาจจะต้องเตรียมใจรับกับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเพิ่มเติม แต่ก็เชื่อว่าช่วงเวลาการขึ้นดอกเบี้ยนั้น เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศพร้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางธุรกิจต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ในเรื่องสภาพคล่อง ดังนั้น หอการค้าไทยจะร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้กลุ่ม SMEs นี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าถึงสินเชื่อด้วยดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนมากขึ้น” นายสนั่น กล่าว