“จุรินทร์” สั่งช่วยชาวสวนมะพร้าว "ยกระดับราคา"

30 ก.ย. 2565 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 16:15 น.

“จุรินทร์” แม่ทัพพรรคประชาธิปัตย์ สั่งพาณิชย์ช่วยชาวสวนมะพร้าว "ยกระดับราคา" บูรณาการร่วม ร่วมกับ ตำรวจ-ศุลกากร ทุกฝ่ายสกัดลักลอบทั้งทางบกและทางทะเล

ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อร้องเรียนของเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเรื่องราคาที่ตกลงระหว่างนี้และนายประมวล พงศ์ถาวราเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเข้าหารือ ทั้งในสภาและนายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนายจุรินทร์ มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ชาวสวนจึงกำชับกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศและกรมการค้าภายในตรวจตราดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิดเพื่อการยกระดับราคาช่วยเกษตรกร

 

ดร.มัลลิกา กล่าวว่า ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการที่ให้ความใส่ใจต่อข้อร้องเรียนของเกษตรกร โดยสถานการณ์มะพร้าวผลแก่ผลผลิต ปี 65 มีกว่า 9.6 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 9.18 แสนตัน หรือ 5.56% ขณะที่ความต้องการใช้ ปี 65 มี 1.28 ล้านตัน สำหรับช่วง ก.ย.65 คาดว่าจะมี 69,881 ตัน หรือ 7.21% ของผลผลิตทั้งปี และลดลงกว่าเดือนก่อนหน้า แล้วทราบว่าทางล้งท้องถิ่นเร่งระบายมะพร้าวผลที่เก็บไว้รอราคาออกจำหน่าย เนื่องจากมีปัญหาด้านคุณภาพ

 

ดังนั้นทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทราบว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กำชับให้เข้มงวดต่อมาตรการกำกับดูแลมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ โดยมาตรการคือให้กรมการค้าภายใน 1.กำหนดให้มะพร้าวผลแก่ เนื้อมะพร้าวขาว และเนื้อมะพร้าวแห้ง เป็นสินค้าควบคุม โดยมีการควบคุมการขนย้าย 2.ขอความร่วมมือโรงงานแปรรูปรับซื้อผลผลิตเพิ่มขึ้นในราคาหน้าสวนไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งปัจจุบันโรงงานรับซื้อมะพร้าวผล ณ หน้าโรงงาน มะพร้าวผลแก่ใหญ่ ราคาผลละ 11-12 บาท ผลกลาง ราคาผลละ 9 - 8 บาท และ ผลเล็ก ราคาผลละ 5 บาท

นอกจากนั้นได้สั่งการให้สายตรวจกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบนำเข้ามะพร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจ ตรวจสอบผู้นำเข้ามะพร้าว จำนวน 3 ราย และล้งมะพร้าว ใน จ. สมุทรสงคราม จำนวน 8 ราย เมื่อวันที่ 11 ส.ค.65 และ ให้สำนักงานพาณิชย์เข้มงวดการอนุญาตและตรวจสอบการขนย้ายมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ตามประกาศ กกร. 4.ขอความร่วมมือกรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวด ตรวจสอบ และป้องปรามการลักลอบนำเข้าทั้งทางบกและทางทะเล             

 

 

ดร.มัลลิกา ระบุว่า ทราบว่าทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยได้ให้นโยบายกรมการค้าต่างประเทศอีกทางหนึ่งคือควบคุมการนำเข้า โดยกำหนดด่านนำเข้า 2 ด่าน คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง และมีมติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว  และคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ให้กำหนดช่วงเวลานำเข้า และกำหนดสัดส่วนการรับซื้อผลผลิตภายในประเทศต่อการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ AFTA โดยให้นำเข้าได้แค่ 2 ช่วง โดยกำหนดสัดส่วนการรับซื้อผลผลิตภายในประเทศต่อการนำเข้า ก.ย.- ธ.ค.65 ในอัตรา 4 : 1 เป็นมติคณะอนุมะพร้าว เมื่อ 28 มิ.ย.65

รวมทั้งมีเงื่อนไขห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ห้ามกะเทาะนอกโรงงาน และ มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) ภายใต้กรอบการค้า WTO และ AFTA โดยกำหนด Trigger volume ปี 2565 เป็นมติคณะอนุมะพร้าวเมื่อ 28 มิ.ย.65 เมื่อปริมาณนำเข้าถึง Trigger volume การนำเข้า WTO นอกโควตา ปรับภาษีจาก 54% เป็น 72%  และ AFTA ปรับภาษีจาก 0% เป็น 72%

 

" เพื่อเป็นการช่วยดูแลเกษตรกรและให้ทุกอย่างสมดุลขอทางศุลกากรต้องช่วยดูแลด้วยเพราะมีการกำหนดให้สินค้ามะพร้าวเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยต้องเปิดตรวจทุกกรณีและชั่งน้ำหนักทุกตู้ นอกจากนั้นมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เพิ่มความเข้มงวดเพื่อป้องกันการเข้ามาระบาดของโรค โดยติดตามการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากทุกฝ่าย ดำเนินตามมาตรการอย่างเข้มงวดจะเป็นการช่วยยกระดับราคาและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้ " ดร.มัลลิกา กล่าว