นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าทิศทางด้านการวิจัยปี 2566 กรมได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) วงเงิน316,934,000 บาท ซึ่งจะมีการลงนามในคำรับรองเร็วๆนี้ ทั้งนี้การเสนอขอสนับสนุนงบวิจัยในปี 66 จะต้องสอดคล้องนโยบายการตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การวิจัยขยายผลต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับตลาด และความมั่นคงด้านการเกษตรและอาหารของประเทศ ภายใต้นโยบายแห่งรัฐและระดับโลกคือการมุ่งสู่เศรษฐกิจ BCG Model
ทั้งนี้กรมให้ความสำคัญกับการวิจัยใน 6 ด้านคือ 1.การวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model 2.การวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชรองรับตลาดใหม่ 3.งานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตพืชที่เหมาะสม 4.งานวิจัยเพื่อพัฒนาสนับสนุนการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่กรมรับผิดชอบ
5.งานวิจัยเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติ เช่นภัยแล้ง ความมั่นคงด้านอาหาร การพัฒนาอาหารที่สอดคล้องกับเทรนความต้องการบริโภคของโลก อาหารแพลนต์เบสต์หรืออาหารโปรตีนจากพืช การเกษตรที่ลดภาวะก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และที่สำคัญคือการป้องกันการระบาดของโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ร่วมถึงโรคอุบัติใหม่
“ปัจจุบันจะเห็นว่ารูปแบบของการบริโภคของประชาชนเริ่มเปลี่ยน เน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่เป็นยา การบริโภคพืชที่ให้โปรตีนแทนเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่ส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่เป็นทั้งอาหารและพลังงานให้มีผลผลิตต่อไร่สูงและต้านทานโรคแมลง เช่น ถั่วเหลือง หรือข้าวโพด ปาล์มน้ำมันจึงสำคัญ”
ตัวอย่างที่เห็นคือไทยนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดมาเป็นวัตถุดิบจำนวนมากเมื่อเกิดสงครามหรือเหตุที่ไม่สามารถคุมได้ ต้องนำเข้าราคาสูงจึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้นกรมให้น้ำหนักทั้งการวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจเดิมและพืชเศรษฐกิจใหม่เช่นกัญชง กัญชา กระท่อม ที่สามารถเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้ามูลค่าสูงได้ จึงขอให้สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตรทั้ง 8 เขตได้ช่วยกันพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืชให้ไปในทิศทางดังกล่าว ร่วมถึงการพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือทางการเกษตรเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตของเกษตรกร
ทั้งนี้งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในปี2564 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น 14 รางวัล อาทิ ประเภทงานวิจัยพื้นฐานการค้นหาและพัฒนาเครื่องหมายสนิปส์ใหม่เพื่อร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีไซยาไนด์ต่ำต้านทานโรครากปมและโรคใบด่างมันสำปะหลัง ประเภทพัฒนางานวิจัย การผลิตสารยับยั้งเอนไซม์แอลฟ่า - กลูโคซิเดส จากหอมแดงและการขยายผลเชิงพาณิชย์ และการวิจัยการศึกษาฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนเพื่อยึดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ เป็นต้น