“อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” พลิกเกมค้าโลก รับกติกาใหม่อียู เก็บภาษีคาร์บอน

20 ก.ค. 2565 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 17:38 น.

ปมร้อน “Carbon Tax” “อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” พลิกเกมค้าโลก จับมือ อบก.ลงนามบันทึก MOU มุ่งสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ เล็งนำที่ดินเกษตร “ปาล์มน้ำมัน” “ยางพารา” "ไม้ผลและไม้ยืนต้น" ในมือมากกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศ นำร่องทะลายภาษี

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 กรมวิชาการเกษตรได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย(Thailand Carbon Neutral Network, TCNN) ร่วมกับ Climate Neutral Now ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการยกระดับการลดปริมาณก๊าชเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมทั้งเตรียมทำ MOU ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต

 

โดยมีวัตถุประสงค์พัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ เตรียมความพร้อมให้กับกรมฯ เพื่อรับมือกับความเสี่ยง อาทิ มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จากภาษี CBAM รวมถึงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิตลาดคาร์บอน ตลาดสีเขียว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เป็นต้น

 

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ต่าง ๆ รองรับนโยบาย BCG และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต กรมวิชาการเกษตรมีพื้นที่สวน พื้นที่ป่า และพื้นที่ปลูกพืชวิจัยมากกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศทั้งพืชไร่ อาทิเช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชสวน อาทิเช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว มะม่วง เป็นต้น

 

นอกจากนี้เพื่อเป็นต้นแบบคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตให้เกษตรกร กรมวิชาการเกษตรได้มีการศึกษาการกักเก็บก๊าซ CO2ของพืชนำร่อง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน 2,000 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้144,000 ตัน/ปี ยางพารา 4,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้103,500 ตัน/ปี ไม้ผลและไม้ยืนต้น 12,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 2,500 ตัน/ปี เป็นการประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรความร่วมมือดังกล่าว

 

“อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” พลิกเกมค้าโลก รับกติกาใหม่อียู เก็บภาษีคาร์บอน

 

ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยงที่ต้องรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ให้สามารถนำไปสู่การพัฒนาระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการจัดทำระเบียบวิธีการประเมินโครงการเพื่อเข้าร่วมการประเมินคาร์บอนเครดิต และการพัฒนางานวิจัยด้านการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิตร่วมกัน

 

เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรมีความสามารถเป็นหน่วยรับรอง (Certification Body) ในการดำเนินการให้การรับรองการตรวจโครงการคาร์บอนเครดิตในแปลงปลูกพืชของกรมวิชาการเกษตรและเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต

 

อนึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจ หมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG ให้เป็นกลไกสำคัญของการ ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญให้ทุกประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องถือปฏิบัติ

 

“อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” พลิกเกมค้าโลก รับกติกาใหม่อียู เก็บภาษีคาร์บอน

 

รวมถึงส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน ในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) ได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเวทีการค้าโลก หลังสหภาพยุโรป (EU) เป็นประเทศแรกที่จัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism, CBAM)

 

“อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” พลิกเกมค้าโลก รับกติกาใหม่อียู เก็บภาษีคาร์บอน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวในตอนท้ายว่า การทำ MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน ในอนาคต

 

กรมวิชาการเกษตรคาดหวังเป็นหน่วยงานตรวจประเมิน โดยมีแผนการร่วมมือกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติในการประเมินทางเลือกในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิตพืชของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจต่อไป