จากร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว และรอลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศมีผลบังคับใช้ต่อไป อย่างไรก็ดีจากผลการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมภาพรวมยังไม่แตกต่างจากฉบับเดิมมากนัก โดยในหลายมาตรายังอาจเข้าข่ายการอุดหนุนจากภาครัฐ และอาจไม่เพียงที่จะได้รับการยอมรับจากบราซิลผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกที่ยื่นฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก(WTO)เรื่องให้การอุดหนุนน้ำตาล ทำให้ได้รับความเสียหายกว่า 6.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกันจากร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้เพิ่มคำว่า “กากอ้อย”ในบทนิยาม “ผลพลอยได้”ที่โรงงานน้ำตาลได้คัดค้านมาโดยตลอดในการนำมาคำนวณเป็นรายได้ในการแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 (ชาวไร่อ้อย 70% โรงงาน 30%)โดยระบุว่า โรงงานได้รับซื้อรวมในน้ำหนักอ้อยไปแล้ว ซึ่งขัดกับหลักการข้อตกลงเดิมระหว่างชาวไร่กับโรงงานใน พ.ร.บ.อ้อยฯปี 2527 ขณะที่โรงงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียระบุไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายนี้ เพราะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย
นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการบริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด(TSMC) (ผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ที่ประชุมผู้บริหารโรงงานน้ำตาลทราย 57 โรงทั่วประเทศเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ได้เห็นพ้องให้กรรมการผู้แทนโรงงานลาออกจากคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ทั้ง 5 คณะ เมื่อร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่เพิ่มคำว่า “กากอ้อย”ในบทนิยาม “ผลพลอยได้”ผ่านความเห็นของวุฒิสภา
ในเบื้องต้นกรรมการผู้แทนจากโรงงานได้ลาออกจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) และคณะกรรมการบริหาร(กบ.) ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯแล้ว ส่วนคณะกรรมการอื่น ๆ ประกอบด้วย คณะกรรมการอ้อย (กอ.) คณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) และคณะกรรมการบริการกองทุน(กท.) อยู่ระหว่างดำเนินการลาออกต่อไป
“การลาออกจากคณะกรรมการทั้ง 5 คณะจะส่งผลให้คณะกรรมการทั้งหมดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เพราะไม่ครบองค์ประกอบ โดยขาดผู้แทนจากฝ่ายโรงงาน(เหลือเพียงผู้แทนฝ่ายราชการ และฝ่ายชาวไร่อ้อย) ซึ่งเท่ากับว่าโรงงานและชาวไร่อ้อยจะต้องบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมนี้ร่วมกันเอง ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารอุตสาหกรรมเป็นไปโดยเสรีมากขึ้น แต่ยังคงมีการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกันอย่างเป็นธรรมโดยที่ฝ่ายโรงงานจะไม่เข้าร่วมบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แต่จะประกอบกิจการภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ”
ทั้งนี้มองว่าหากมีการเปิดเสรีการค้าเต็มรูปแบบจะทำให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้า สร้างการแข่งขัน และผลักดันให้เกิดการพัฒนา ซึ่งสุดท้ายผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเรื่องใดจำเป็นต้องมีการปรับตัวและดูแลผลกระทบ ซึ่งโรงงานน้ำตาลจะต้องดูแลชาวไร่อ้อย และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้แข่งขันได้
ล่าสุดเพื่อให้อุตสาหกรรมยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ในการประชุม 57 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ได้มีมติสำคัญได้แก่ เห็นพ้องให้กำหนดวันเริ่มต้นหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2565/2566 ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป โดยเห็นพ้องกันที่จะประกันราคาอ้อยโดยกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเป็นราคาเดียวทั่วประเทศที่ตันละ 1,040 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือตันละ 1,200 บาท ที่ค่าความหวาน 12.61 ซี.ซี.เอส โดยราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวเป็นราคาประกันขั้นต่ำ หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นโรงงานต้องรับผิดชอบส่วนต่างเอง และหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้น โรงงานต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มให้ชาวไร่อ้อย
ทั้งนี้การเปิดหีบและกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเอง เพื่อป้องกันปัญหากรณีคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ไม่สามารถกำหนดวันเปิดหีบอ้อยได้ โรงงานจะประสานกับสมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่และชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเพื่อให้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในการขอความคุ้มครองให้มาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเพื่อให้เปิดหีบอ้อยได้ ในเบื้องต้น 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือลงนามถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)เพื่อพิจารณากำหนดวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 แล้ว
ด้าน นายบุญถิ่น โคตรศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ออกแถลงการณ์ใจความสำคัญระบุว่า การแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายได้ยึดตามแนวทางร่างของรัฐบาลที่ได้เจรจาไว้กับบราซิล ซึ่งโรงงานก็ไม่ได้โต้แย้งในประเด็นต่าง ๆ มีเพียงประเด็นเดียวที่โรงงานคัดค้านมาโดยตลอดคือนิยามคำว่า “กากอ้อย” ที่จะนำมาแบ่งปันผลประโยชน์เท่านั้น แต่เมื่อกฎหมายผ่านออกมาก็หยิบยกเอาประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาชี้ช่องทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ
นอกจากนี้โรงงานยังได้แสดงความเห็น ไม่เอา พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย จะกำหนดราคาอ้อยเอง กำหนดวันเปิดหีบเอง ขายน้ำตาลเอง ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ขัดหลักธรรมนูญและกฎหมายของประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นของชาวไร่อ้อยและลดการปลูกอ้อยลง และเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อโรงงานเองในที่สุด ดังนั้นขอให้ทบทวนวิธีคิดและหันหน้าเข้าหากัน ส่วนในเรื่องกากอ้อยสามารถพูดคุยกันในคณะกรรมการได้
ขณะที่นายโกศล โพธิ์สุวรรณ กรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยให้เดินหน้าสู่ระบบเสรีภายใต้กติกาของ WTO อย่างเต็มตัว โดยจะไม่เข้าร่วมบริหารจัดการอุตสาหกรรมตามพ.ร.บ.หรือกฎหมายอ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ที่ยังให้การอุดหนุนน้ำตาล เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกคู่แข่งขันอย่างบราซิลฟ้อง WTO ให้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท(Panel)มาตัดสินคดีไทยให้การอุดหนุนน้ำตาล และอาจนำไปสู่การถูกตอบโต้ทางการค้าในที่สุด รวมถึงถูกตอบโต้จากคู่แข่งขันอื่น ๆ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอีกมหาศาล
สำหรับการออกแถลงการณ์ของผู้นำจิตวิญญาณคนสำคัญของชาวไร่อ้อยข้างต้นมองว่า อาจเริ่มรู้สึกวิตกกังวลกับความเคลื่อนไหวของโรงงานน้ำตาลที่ผลักดันเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่จะเป็นระบบเสรีมากขึ้น และอาจกลัวเสียผลประโยชน์ ขณะที่ชาวไร่อ้อยในพื้นที่ตัวจริงที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานเห็นด้วยกับแนวทางของโรงงานน้ำตาลในการเดินสู่ระบบเสรี จากที่ผ่านมาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของภาครัฐ ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยไม่พัฒนา
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3824 วันที่ 6 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565