วันที่ 30 ก.ย. 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ (ประธานบอร์ด) นโยบายการประมงแห่งชาติ แจ้งในที่ประชุมให้รับทราบถึงกำหนดการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับคณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) ในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม( IUU) ครั้งที่ 6 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 11-14 ต.ค. 2565
ทั้งนี้ทางสหภาพยุโรป ให้ความสนใจสถิติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาภาคประมงของไทย ที่มีการดำเนินคดีที่เพิ่มสูงขึ้น และการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนในการเอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิดในการทำประมง หรือการทุจริตต่อหน้าที่ จึงเห็นควรที่ประเทศไทยต้องยกระดับการบังคับใช้กฎหมายจากการต่อต้านประมง IUU เพื่อตัดวงจรมิให้ไปสู่อาชญากรรมด้านการประมง (Fisheries Crime) ซึ่งเป็นการทำงานมาตรฐานระดับโลก
ต่อกรณีดังกล่าว รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในขณะนี้ประเทศไทยมีอาชญากรรมทางทะเล จากเดิมมีการหลอกคนไปทำงานในเรือประมง หรือค้ามนุษย์ แต่ตอนนี้มีวิวัฒนาการในรูปแบบใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้และดำเนินคดี โดยมีผู้นำผลกำไรจากการกระทำผิดบนบกไปฟอกเงิน โดยนำไปลงทุนในธุรกิจประมง (เรือประมง แพปลา)
“ในเรื่องนี้จะเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่จะมีการหารือกันในวันที่ 11-14 ต.ค.นี้ เป็นพัฒนาการรูปแบบอาชญากรรม ซึ่งเราเองก็มีความกังวลในเรื่องระบบติดตาม อาจจะต้องปรับกฎเกณฑ์ เพราะรูปแบบเดิมได้ถูกออกแบบไว้ในเรื่องการกระทำผิดแบบเดิม แต่วันนี้รูปแบบการกระทำความผิดมีวิวัฒนาการแบบใหม่ ที่ต้องรู้ให้เท่าทันกับอาชญากรรมที่เปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่าทางอียูน่าจะมีประสบการณ์ในเรื่องแบบนี้มากกว่าไทยจะมีการจัดการอย่างไรนั้นคงต้องมาแลกเปลี่ยนกัน”
ร.ศ.ธนพร กล่าวอีกว่า ในเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 สำหรับการประกาศตามมาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมงนั้น ไม่ใช่เรื่องของอียู แต่เป็นเรื่องของทรัพยากรของบ้านเราเองอยากให้ทะเลไทยจับปลาได้ชั่วลูกชั่วหลาน
ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดประมงแห่งชาติครั้งล่าสุด ไม่มีวาระพิจารณาในเรื่องมาตรฐานการกำหนดถุงอวนลาก และเรื่องประกาศมาตรา 57 มาตรา 71(2) ให้เร่งร่างออกประกาศแล้วมานำเสนอ ภายในวันที่ 30 พ.ย. 2565 แต่มีคนลักไก่นำวาระสอดไส้เข้ามา จึงเสนอในที่ประชุมว่าไม่ควรเร่งรีบออกประกาศ เพราะอาจขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียให้รอบด้านก่อน
ก่อนหน้านี้ผลจากการรับฟังความคิดเห็น (27 มิ.ย.-8 ก.ค.65) ชาวประมงใน 22 จังหวัด ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ได้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 1,010 คน โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ที่จะให้ออกประกาศกำหนดขนาดสัตว์น้ำนำร่อง 2 ชนิด ได้แก่ ปลาทู-ลัง และปูม้า โดยขนาดความยาวสัตว์น้ำ ปลาทู-ลัง ความยาวตลอด 12 ซม.และปูม้าความกว้างกระดอง 6 ซม. และสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จับได้ไม่เกิน 10% ของประมาณสัตว์น้ำทั้งหมด อย่างไรก็ดีในวันนั้นประธานฯ ได้สั่งให้กรมประมงไปรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียใหม่ แล้วมากลับนำเสนอคณะกรรมการต่อไป
ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ สรุปผลการประชุมทวิภาคีฯไทย-อียู เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่ประเทศอิตาลี ทางอียูได้เน้นย้ำการติดตามผลการดำเนินการภายหลังการปลดใบเหลืองไทยในด้านต่างๆ อย่างเข้มงวด โดยพร้อมร่วมมือและสนับสนุนความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาประมง IUU ของไทยและภูมิภาคอาเซียน
พร้อมขอให้ไทยไทยยังคงการดำเนินการแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ และหลักสากล เพื่อไปสู่ความยั่งยืนของการประประมงต่อไป ส่วนประเด็นที่จะมีการประชุมหารือในไทยมี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ กรอบการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง การบริหารจัดการกองเรือ และการบังคับใช้กฎหมาย และพัฒนาการด้านกฎหมายเพื่อการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย
อนึ่ง ในรอบปีการประมง 2565-2566 มีผู้ขอใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ โดยมีจำนวนเรือ เข้าสู่การพิจารณาจัดสรรใบอนุญาตทั้งสิ้น 9,783 ลำ ผลการพิจารณาคำขอได้รับอนุญาตจำนวน 9,608 ลำ (กราฟิกประกอบ)