ประมง 1.5 แสนล้านระส่ำ ผวาใบเหลืองไอยูยูคืนชีพ

09 ม.ค. 2565 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2565 | 14:13 น.

ธุรกิจประมงไทย 1.5 แสนล้านระส่ำ ผวาใบเหลืองไอยูยูคืนชีพ รัฐบาลสั่งทุกหน่วยรับมือ อียูจ่อตรวจเข้มสัปดาห์ที่ 2 ก.พ.นี้ วงในเผยสถานการณ์ไม่สู้ดี หลังสหรัฐฯ ลดอันดับการค้ามนุษย์ไทยไปอยู่ Tier 2 Watch List ประเทศต้องจับตา ไทม์ไลน์ตามหลอนมีความสุ่มเสี่ยง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564  กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่ประกาศผลการจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report - TIP Report) ประจำปี ค.ศ.2021 โดยประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List (กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง)โดยลดระดับจาก Tier 2 (กลุ่มประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์ แต่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ) ในปี 2563 นั้น

 

สหรัฐอเมริกา

 

แหล่งข่าวจากสำนักนายกรัฐมนตรี  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้เรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – IUU Fishing) กับเรื่องค้ามนุษย์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน แต่ในความเป็นจริงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองเรื่องมีความสัมพันธ์กัน เพราะการทำประมงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งก่อให้เกิดการค้ามนุษย์หรือแรงงานบังคับ ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ประสิทธิภาพการทำงานของประเทศไทยดูลดน้อยถอยลง สังเกตได้จากประเทศไทยถูกลดอันดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ  หรือ TIP Report ลงมา

 

โดยสหรัฐฯให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยลดประสิทธิภาพในการตรวจของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงลดน้อยลง และหากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงภายใน 2 ปี จะถูกลดชั้นไปอยู่ระดับ Tier3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด คือประเทศนั้นไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมายขั้นต่ำของสหรัฐฯ และไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา

 

มีความเสี่ยงที่ประเทศในกลุ่มนี้จะถูกลดสิทธิ์ต่างๆ และเปิดทางให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคตจากไทม์ไลน์เหมือนปี 2558 ดังนั้นการประชุมร่วมกับคณะทำงานประมงไอยูยูของสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์นี้ จึงเป็นที่จับตามองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะกลับไปสู่สถานะใบเหลืองอีกครั้ง

 

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล

 

ด้าน รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ และรองประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวว่า นับแต่ไทยได้ถูกปลดจากใบเหลืองเมื่อเดือนมกราคม 2562 ไทยและอียู ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานไอยูยู ฟิชชิ่งโดยมีการประชุมคณะทำงานเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2562-2564 อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง

 

สำหรับการเดินทางมาของคณะทำงานอียูในครั้งที่จะมาถึงนี้ คงได้มีการปรึกษาหารือกันในหลายเรื่องที่จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้น เช่น การกำกับดูแลเรือประมง ,การติดตาม ควบคุม และการเฝ้าระวัง และการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งเป็นความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ และการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องพัฒนาขีดความสามารถร่วมกัน เป็นต้น

 

ขณะที่กรมประมง ประเมินผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการทำการประมงทะเลปี 2564 – 2566 คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมประมงยังคงมาตรการในการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ได้มีการประกาศปิดการท่องเที่ยวต่าง ๆ ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศฟื้นตัว และหลังจากประชาชนทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโควิด จะทําให้การค้าขายทั้งภายในประเทศและการส่งออกดีขึ้น

 

พลิกแฟ้มภาพรวมประมงทะเลไทย

ทั้งนี้คาดการณ์ปี 2564-2566 จะมีผลผลิตเฉลี่ย 1.50 ล้านตันต่อปี และคิดเป็นมูลค่า 72,229 ล้านบาทต่อปี  (กราฟิกประกอบ) ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ได้จากการทําการประมงพาณิชย์เฉลี่ย 1.21 ล้านตันต่อปี  คิดเป็นมูลค่า 47,374 ล้านบาทต่อปี โดยผลผลิตมีแนวโน้มลดลงในอัตราร้อยละ 0.51 ต่อปี ส่วนมูลค่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ4.02 ต่อปี และผลผลิตที่ได้จากการทําการประมงพื้นบ้านเฉลี่ย 2.89 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 24,724 ล้านบาทต่อปี โดยผลผลิตและมูลค่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 6.24 และ 10.22 ต่อปีตามลำดับ

 

 ผลผลิตสัตว์น้ำที่จับได้ ประกอบด้วย กลุ่มปลา กลุ่มกุ้ง กลุ่มปู กลุ่มหมึก กลุ่มหอย และกลุ่มสัตว์น้ำอื่น  ๆโดยคาดการณ์ว่ากลุ่มปลายังคงมีผลผลิตมากที่สุดเฉลี่ย 1.19 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 35,289 ล้านบาทต่อปี รองลงมา ได้แก่ กลุ่มหมึกเฉลี่ย 1.10 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 14,565 ล้านบาทต่อปี และ กลุ่มกุ้งเฉลี่ย 6.37 หมื่นตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 7,415 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

 

อนึ่ง กลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ กองประมงต่างประเทศ กรมประมง ประมวลผลข้อมูลจากกรมศุลกากร ข้อมูลส่งออกสินค้าประมง สถิติย้อนหลัง 3 ปี(2562-2564)  ปี 2564  ปริมาณ 1.27 ล้านตัน  มูลค่า 158,353 ล้านบาท, ปี 2563 ปริมาณ 1.64 ล้านตัน มูลค่า 196,786 ล้านบาท  และปี 2562 ปริมาณ 1.54 ล้านตัน มูลค่า 197,583 ล้านบาท

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3747 วันที่ 9-12 มกราคม 2565