อียู ส่งสัญญาณเตือน ไทยผวาใบเหลืองไอยูยู รอบ 2

27 ก.พ. 2565 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2565 | 15:58 น.

“อียู” โชว์แจกใบเหลืองประมงไอยูยู “กานา-แคมารูน” ไม่สนช่วงโควิด ไทยผวาโดนใบเหลืองรอบ 2 หลังถูกประเมินเบื้องต้นประสิทธิภาพทุกด้านถดถอยลงเกิน 50% คณะกรรมการประมงฯ ชี้รูรั่วที่ต้องเร่งอุด ศูนย์ PIPO 22 จังหวัดระส่ำ จนท.ประมงกว่าร้อยคนส่อถูกลอยแพหลังถูกหั่นงบ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม  2562 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น  ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม นายเคอเมนู เวลลา (Mr.Karmenu Vella) กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ประกาศแถลงการณ์ผลการพิจารณาปลดใบเหลืองประมงไอยูยูของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนั้น จากวันนั้นถึงวันนี้ระยะเวลา 3 ปีกว่า มีสถานการณ์ที่น่าจับตามอง

 

รศ. ธนพร ศรียากูล

 

รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการในคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาได้มีการหารือระหว่างคณะทำงานฝ่ายไทยและคณะทำงานฝ่ายสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นการหารือกันผ่านระบบทางไกลโดยใช้โปรแกรมซูม จากในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่ได้นำระบบ Test & Go กลับมาใช้สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งในวันดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือกันตั้งแต่เวลา 14.30 น. และเสร็จสิ้นประมาณ 20.00 น.

 

“อยากอธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า คณะทำงานทั้งฝ่ายไทยและอียู เป็นคณะทำงานที่แต่ละฝ่ายจัดตั้งขึ้นหลังจากไทยได้รับการปลดใบเหลืองตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายจะมีการนัดหารือกันปีละ 1-2 ครั้ง การหารือเมื่อวันที่  27 มกราคม 2565 ก็เป็นการทำงานตามรอบที่เราต้องทำงานด้วยกัน”

 

สำหรับประเด็นในการหารือกันในครั้งนี้ ฝ่ายอียูมีข้อกังวลเกี่ยวกับการถดถอยของประสิทธิภาพของระบบการเฝ้าระวัง การควบคุมและการติดตาม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายของไทย โดยระบุว่ามีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากข้อมูลที่ฝ่ายไทยได้นำเสนอไปแลกเปลี่ยนกันพบว่าในช่วงระหว่างปี 2563-2564 ผลการทำงานของฝ่ายไทยถดถอยลงเกินกว่า 50% ทุกด้าน

 

 ไม่ว่าจะเป็นด้านของการทำหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (FMC) ซึ่งมีหน้าที่ในการติดตามระบบ VMS  (ระบบติดตามเรือประมง) ที่หลายประเทศนำมาใช้ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)    รวมถึงศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ที่ทำหน้าที่ตรวจท่าเทียบเรือ และตรวจเรือประมงในทะเล

 

อียู แจกใบเหลือง -ใบแดง

 

โดยทั้ง 3 เรื่อง ถดถอยเกิน 50% เฉพาะการตรวจในทะเลพบความผิดเป็นเรื่องประมงขนาดเล็ก ซึ่งมีประสิทธิภาพการจับสัตว์น้ำไม่สูงนัก แต่การจับประมงขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในการจับสัตว์น้ำสูงกลับมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเป็นอย่างมาก ทั้งหมดคือการตั้งข้อสังเกตของทางอียู นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่อียูกังวลคือ ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายของไทยลดลง

 

ทั้งนี้ดูจากประเด็นเนื้อหาข้อมูลที่ได้แลกเปลี่ยนกัน ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด ถึงแม้จะมีการผ่านระบบทางไกลแต่อียูก็มีการแจกใบเหลืองประมงไอยูยูไปแล้ว 2 ประเทศ คือ แคเมอรูน และกานา (กราฟิกประกอบ) ซึ่งไม่อยากจะเห็นสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไขข้อบกพร่องที่อียูส่งสัญญาณมา ขณะที่อียูแจ้งกำหนดการว่าทันทีที่ไทยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักร จะเดินทางมาตรวจประเมินไทยอีกครั้ง คาดไม่เกิน 2-3 เดือนนับจากนี้

 

“อุปสรรคสำคัญส่วนหนึ่งในเวลานี้คือ กรมประมง ถูกตัดงบประมาณปี 2565 จำนวนมาก งบประมาณที่ใช้เพื่อการนี้จะอยู่ได้ถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เจ้าหน้าที่ทำงานในพื้นที่ศูนย์ PIPO ในส่วนของการตรวจสัตว์น้ำ ที่จะต้องนำสัตว์น้ำขึ้นชั่งน้ำหนัก และทำหน้าที่ติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง จะไม่ได้รับการต่อสัญญา มีจำนวนหลายร้อยคนใน 22 จังหวัดชายทะเล จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของกรมประมงอย่างแน่นอน หากส่วนนี้ขาดหายไป และยังไม่มีระบบอะไรที่จะเข้ามาทดแทน เป็นสิ่งสำคัญที่ฝ่ายนโยบายต้องเร่งตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร”

 

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เรื่องนี้จะคล้ายกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องถูกเลิกจ้าง ซึ่งก็หวังว่ารัฐบาลจะเห็นความสำคัญตรงนี้ และนำงบกลางมาช่วย เพราะอียูได้แสดงข้อห่วงกังวลมา หากฝ่ายนโยบายไม่ให้การสนับสนุนตรงนี้ มีความเสี่ยงสูงที่ไทยจะถูกประเมินไปในทิศทางที่เลวร้ายลง แต่หากได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี หรืออาจไม่มีปัญหาก็ได้

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,761 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2565