ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” สถานะ “หญ้าแม่มด” (quarantine weed) จะต้องถามอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ว่า “หญ้าแม่มด” จะกำหนดสถานะอย่างไร จะปล่อยให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ให้ปล่อยมีการรับซื้อทุกปีหรือไม่ แต่ปีนี้คนจีนไม่มา แต่ 2 ปีที่แล้ว คือ ปีแรก (2563) รับซื้อกิโลละ 300 บาท และปี 2564 กิโลกรัมละ 600 บาท ทำให้เกษตรกร ไม่กำจัดเลย เป็นแรงจูงใจปล่อยให้หญ้าชนิดขึ้นเพื่อจะขาย แต่ปีนี้เก็บตากแห้งไว้รอแล้วก็ไม่มีใครมาซื้อเลย
“หญ้าแม่มด” เป็นวัชพืชกักกัน ทั่วโลกรังเกียจ กระทบการผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งออก เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดส่งออก ก่อนหน้านั้นก็เคยโดนที่ไปรัสเซีย ถ้าไม่ทำอะไรเลย ปล่อยระบาด 4 อำเภอ จังหวัดนครสวรรค์ แล้ว ซึ่งคาดว่าจะไปกับเศษรถที่ติดล้อออกจากพื้นที่แล้ว ไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้เลย เพราะระบาดมาตั้ง 5 ปีแล้ว
"สมาคมก็เตือนแล้วเตือนอีก ขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ แล้วเมล็ดก็อยู่ในดินได้ถึง 15-20 ปี ถ้ากระจายไปทั่วจะควบคุมไม่ได้ แทนที่จะอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอจังหวัดนครสวรรค์ ก็ให้กำหนดเขตควบคุม ตาม พ.ร.บ.กักพืชฯ มาตรา 17 ให้อำนาจอธิบดีการที่จะประกาศเขตควบคุมจะมีศัตรูพืชอะไรที่มีปัญหาร้ายแรงก็กำนดเป็นพื้นที่ควบคุมได้ เมื่อควบคุมได้ ก็ประกาศยกเลิกได้"
ทำเช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลียก็เจอในอ้อยเหมือนกัน ก็ประกาศพื้นที่เจอให้เป็นควบคุมแล้วมอนิเตอร์ทุก 15 วัน แล้วกำจัดทิ้ง ทำต่อเนื่อง 5 ปีแล้ว ก็มีการประกาศลดระดับการเฝ้าระวังแล้ว และไม่ใช่เก็บเป็นความลับ แล้วก็เข้าไปจัดการ เพราะฉะนั้นเวลาส่งออก ที่เป็นอาหารของหญ้าแม่มด เช่น ข้าวฟ่าง เข้าประเทศจีน ก็ไม่มีปัญหา สามารถตอบได้ว่า ข้าวฟ่างไม่ได้ปลูกที่รัฐควีนแลนด์ ปลูกอีกรัฐหนึ่ง ก็สามารถบอกได้ว่าข้าวโพด ไม่ได้อยู่อำเภอแล้วหมู่บ้านนี้ คนทำธุรกิจจะได้ไม่เดือดร้อน หรือ จะให้ปล่อยปลูกหญ้าแม่มดขาย
“อ้อยเสียหาย ผลผลิตลดลง แต่ หญ้าแม่มด ชาวไร่อ้อยเห็นว่าขายได้ก็เลยไม่ได้สนใจ ปล่อยให้ขึ้น ไม่กำจัด ซึ่งการขนย้ายก็มีโอกาสที่จะไปกระเด็นหล่นที่ไหนก็ได้กลางทางไปเรื่อยๆ จะระบาดไปทั่ว แล้วก็ยังมีที่อื่นไม่เห็นอีก จะต้องทำอะไรไหม แต่ทุกคนก็อ้างว่ากลัวจะกีดกันทางการค้า แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ส่งออกแล้วไปโผล่ที่ต่างประเทศความลับแตก จะโดนกีดกันทั้งประเทศเลย ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
“อธิบดีคนปัจจุบันอาจจะไม่รู้เรื่องเพราะรายงานตั้งแต่สมัย ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแล้ว แต่ในขณะนั้นก็อ้างว่า “อ้อย” เป็นพืชที่ไม่อยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรฯ แต่หญ้าตัวนี้ เป็นวัชพืชกักกันของกรมวิชาการเกษตรที่จะต้องดูแล แล้วหากปล่อยไว้จะมากระทบกับพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั้งหมด อ้อย ข้าวฟ่าง ข้าวโพด แต่สมาคมก็ถือว่าได้แจ้งแล้ว ซึ่งทางหน่วยงานจะต้องดูแล ไม่ใช่หน้าที่ของสมาคมแล้วให้แนวทางไปแล้วว่าควรจะทำอย่างไร ในความคิดควรจะประกาศเป็นเขตควบคุมหรือไม่ จังหวัดนครสวรรค์ 4 อำเภอ ( เมือง พยุหะคีรี ตากฟ้า และ ตาคลี) สำรวจและรณรงค์ให้ชาวบ้านทราบถึงอันตราย เพราะไม่รู้ เป็นสิ่งที่ทุกประเทศก็ทำ บางคนอาจจะเอาไปปลูกก็ได้เพราะเห็นว่าสวยดี ก็ต้องถามอธิบดีจะทำอะไรไหม”