จากที่โรงงานน้ำตาลได้คัดค้านการกำหนดให้เพิ่มคำว่า “กากอ้อย” รวมในนิยามคำว่า “ผลพลอยได้” ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ โดยต้องนำกากอ้อยมาคิดเป็นรายได้ของระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อยด้วยหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้โรงงานระบุว่าขัดกับหลักการข้อตกลงเดิมที่ทำไว้ระหว่างกันก่อนหน้านี้ ที่โรงงานได้ซื้ออ้อยจากชาวไร่ตามน้ำหนักซึ่งรวมกากอ้อยแล้ว หากมาขอแบ่งปันผลประโยชน์อีกมองว่าไม่เป็นธรรมนั้น
นายโกศล โพธิ์สุวรรณ กรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันอ้อย 1 ตันเมื่อหีบแล้วจะมีกากอ้อย 270-300 กิโลกรัม (กก.) หากคิดที่ราคากิโลกรัมละ 1 บาท มูลค่ากากอ้อยจะอยู่ที่ 300 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งจากปริมาณผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565 /2566 ที่จะเริ่มเปิดหีบในเดือนพฤศจิกายนคาดทั่วประเทศจะมีผลผลิตอ้อยปีนี้มากกว่า 100 ล้านตัน ทำให้กากอ้อยจะมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่โรงงานน้ำตาลคัดค้านในการนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ เพราะใน พ.ร.บ.อ้อยฯเดิม (ปี 2527) เขียนไว้ว่าให้เป็นของโรงงาน
โดยกากอ้อยที่ได้โรงงานนำไปเผาทำความร้อนเพื่อเพิ่มความขาวน้ำตาลทรายดิบให้เป็นน้ำตาลทรายขาว ซึ่งบางโรงก็ไม่มีกากอ้อยพอที่จะไปเผาทำน้ำตาลทรายขาว ขณะที่บางโรงมีพอ และบางโรงยังมีกากอ้อยเหลือ และได้ลงทุนทำโรงไฟฟ้าโดยนำกากอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิง (โรงไฟฟ้าชีวมวล) ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง หรือเพื่อจำหน่ายเข้าระบบไฟฟ้าของภาครัฐ เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ วัสดุทดแทนไม้ และอื่นๆ โดยโรงงานต้องลงทุนเองทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะนำกากอ้อยมาคำนวณในการแบ่งปันผลประโยชน์อีก
ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยว่า ล่าสุดจากที่โรงงานน้ำตาลทรายบางโรงได้พบกับนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว และรอขั้นตอนก่อนประกาศบังคับใช้ เบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลว่าจะมีการนำกากอ้อยมาคำนวณเป็นรายได้ของระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ตาม พ.ร.บ. อ้อยฯฉบับใหม่ด้วย โดยชาวไร่อ้อยขอที่ 5% ของรายได้จากกากอ้อยที่โรงงานจะได้รับ
“ปัญหาที่จะตามมาคือ รายได้จากกากอ้อยจะคิดอย่างไร โดย หนึ่ง ต้องรู้ปริมาณอ้อยมีทั้งหมดเท่าไหร่ และสอง 5% จะคิดที่กากอ้อยปริมาณ และราคาเท่าไหร่ต่อตัน และโรงงานที่ไม่มีกากอ้อยเหลือ หรือไม่ได้เอากากอ้อยมาลงทุนโรงไฟฟ้า หรือลงทุนอื่น ๆ ที่ต้องนำกากอ้อยมาคำนวณในการแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย ขณะที่ในรายที่นำมาผลิตไฟฟ้า สัญญาการรับซื้อไฟฟ้าแต่ละโรงก็ไม่เหมือนกันอีกจะคิดอย่างไร ดังนั้นวิธีการคิดคำนวณแบ่งปันผลประโยชน์จากกากอ้อยที่โรงงานไม่ยอมรับ จะเกิดความยุ่งยาก ลักหลั่นกันจะตามมาแน่นอน” แหล่งข่าวระบุ
นายนพพร ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มน้ำตาลไทย กล่าวว่า ในเรื่องกากอ้อยนี้ทางโรงงานน้ำตาล 57 โรงงานมีความเป็นเอกภาพ 100% ที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยในการนำมาแบ่งปันผลประโยชน์อีก เพราะปัจจุบันไม่ใช่ว่าโรงงานน้ำตาลทุกโรงจะลงทุนเพื่อนำกากอ้อยมาผลิตกระแสไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ ขณะที่บางรายมีศักยภาพในการแตกไลน์การลงทุนต่อเนื่องจากกากอ้อยและกากน้ำตาลได้ เช่น โรงไฟฟ้า เคมี เอทานอล ไบโอพลาสติก เยื่อออร์แกนิค และอื่น ๆ ที่ต้องลงทุนเป็นพันล้านบาท ซึ่งหากชาวไร่อ้อยมีความเข้าใจว่าเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ และโรงงานมีความต้องการอ้อยเพิ่ม ก็จะแย่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ผลประโยชน์ก็จะตกกับชาวไร่ เพราะโรงงานโดยปกติจะบวกราคาอ้อยเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยอยู่แล้ว
ขณะที่ นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกากอ้อยมีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเชิงพาณิชย์มากขึ้นจากมีเทคโนโลยีที่นำไปสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว ซึ่งทางโรงงานต้องนำมาคำนวณในการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชาวไร่อ้อยด้วย ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้ชาวไร่ยังคงปลูกอ้อยและยังคงอาชีพนี้ต่อไป จากเวลานี้กำลังผลิตของ 57 โรงงาน มีอ้อยไม่เพียงพอในการผลิตน้ำตาล และยังมีใบอนุญาตรออยู่อีกหลายโรง แต่ยังขึ้นไม่ได้เพราะวัตถุดิบอ้อยไม่เพียงพอ
“วันนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลที่โรงงานระบุจะมุ่งสู่ระบบเสรี ก็ยังไม่สามารถเสรีได้จริง เพราะรัฐยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติหรือคนนอกระบบโรงงานน้ำตาลสร้างโรงงานได้ หากเสรีจริงต้องให้มีการลงทุนของรายเล็ก ๆ กระจายในพื้นที่ปลูกอ้อยได้ ดังนั้นยังเป็นทุนใหญ่กินทุนเล็ก เขายังได้เปรียบชาวไร่”
รองศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะผู้วิจัยโครงการติดตาม ประเมิน และเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหากรณีพิพาทเรื่องอ้อยและน้ำตาลกับบราซิลในองค์การการค้าโลก (WTO) โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากที่บราซิลฟ้องต่อ WTO ว่าไทยให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และไทยได้ตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอของบราซิลเพื่อไม่ให้ยื่นฟ้องในขั้นตอนต่อไป (ขอให้ WTO ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทมาตัดสิน)
ที่ผ่านมาในหลายประเด็นที่บราซิลไม่สบายใจในเรื่องการอุดหนุนต่าง ๆ (กราฟิกประกอบ) ถือว่าไทยได้ดำเนินการแก้ไขให้หมดแล้ว โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก (ไม่เกี่ยวกับเรื่องกากอ้อยที่ยังเป็นที่ถกเถียงกัน) แต่หากจะยึดหลักการของ WTO เป็นตัวตั้งไทยอาจจะยังไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะในบางเรื่องยังมีการอุดหนุนอยู่ ในเรื่องที่ WTO อนุญาตให้อุดหนุนได้ในกรอบที่กำหนด
“หากเราทำตามกฎ WTO ทุกอย่าง เราจะเป็นคนดีเกินไปหรือเปล่า เพราะบราซิลที่ฟ้องไทยต่อ WTO เขาก็ยังมีการอุดหนุนภายใน ขึ้นกับเขาจะพลางตัวได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่ WTO อนุญาตให้อุดหนุนได้ตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้ ซึ่งหากมีประเทศอื่นฟ้องว่าเราอุดหนุนเกินที่ให้ไว้ ก็ต้องมาพิสูจน์กันว่าเมื่อเราใช้มาตรการแล้วทำให้เขาเสียหาย ซึ่งจะมีความยากในการพิสูจน์ความเสียหายที่แท้จริง” รองศาสตราจารย์ทัชมัย กล่าวและว่า
กรณีที่บราซิลฟ้องไทยว่าการอุดหนุนน้ำตาลทำให้เขาเสียหาย 6.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ข้อมูลตรงนี้ยากที่จะพิสูจน์ว่าเขาเสียหายตามนี้ เหมือนเขาเรียกค่าเสียหายไปก่อน แต่สมมุติหาก WTO ตัดสินแล้วเราแพ้ เขาก็ไม่สามารถตอบโต้ได้ตามอำเภอใจ ต้องเอาตัวเลขไปให้ WTO ดู และต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ก่อนจะอนุมัติว่าจะตอบโต้อย่างไร ซึ่งไทยก็ต้องคัดค้าน และหากเรายกเลิกมาตรการที่เขากังวลเรื่องก็จบ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3826 วันที่ 13 – 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565