มั่นใจไทยเจรจาบราซิล ปลดล็อกปม"น้ำตาลทราย" ใน WTO 

19 ต.ค. 2565 | 11:06 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2565 | 18:13 น.

"ศ.ทัชมัย" อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯชี้ กฏหมายอ้อย-น้ำตาลทรายใหม่ มีเงื่อนให้ชี้ได้ว่าผิดกติกา WTO แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอดประเทศได้ประโยชน์ เชื่อมั่นทีมเจรจาไทยทำความเข้าใจบราซิลได้ อีกทั้งขั้นตอนยังมีอีกยาว


      

    ศ.ทัชมัย ฤกษะสุต นักวิจัยผู้เชี่้ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนา"ความเสี่ยงน้ำตาลไทย และทางออกบราซิลฟ้อง WTO" ในการสัมมนาThe Big Issue 2022 น้ำตาลขม:มรสุม WTO/กฏหมายใหม่" จัดโดยฐานดิจิทัล ว่า ในมุมมองทางวิชาการ จากที่ร่วมคณะวิจัยของ TDRI เมื่อศึกษาข้อกำหนดและกลไกต่าง ๆ ตามร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯฉบับใหม่ที่รอประกาศใช้นั้น หากใช้เกณฑ์ทางวิชาการล้วน ๆ แล้ว ยังไม่ตอบโจทย์ของบราซิลที่ยื่นเรื่อง WTO ร้องว่าไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลทราย ทำให้บราซิลเสียหาย 

 

ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า การอุดหนุนสินค้าเกษตรตามหลักเกณฑ์ของ WTO ไม่ใช่ว่าห้ามทำโดยเด็ดขาด แต่ให้ทำได้ภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งแบ่งเป็นการอุดหนุนประเภทต่าง ๆ อาทิ กรีนบ็อกซ์ บลูบ็อกซ์ หรือแอมเบอร์บ็อกซ์ การที่รัฐช่วยเมล็ดพันธุ์พืชแก่เกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติทำได้ หรือกำหนดเพดานให้รัฐบาลไทยอุดหนุนเกษตรกรทุกประเภทรวมกันได้ไม่เกินปีละ 19,000  ล้านบาท หรือการอุดหนุนด้านการขนส่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ WTO ขยายเวลาให้ได้ถึงปี 2566  เป็นต้น ดังนั้น หากจะอุดหนุนก็ต้องทำให้ถูกต้อง 

ศ.ทัชมัย ฤกษะสุต นักวิจัยผู้เชี่้ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ทัชมัยกล่าวอีกว่า อีกบทบาทของตนคือเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ ซึ่งต้องพิจารณาภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ กฎหมายที่ออกมา ต้องทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่รอดและไปได้ด้วย ดังนั้น หากจะเขียนกฎหมายให้เข้าหลักเกณฑ์ WTO อย่างหมดจดเลยนั้น อุตสาหกรรมนี้น่าจะไปไม่รอด

 

"เรื่องการอุดหนุนผู้ผลิตนั้นรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ทำกันรวมถึงบราซิล เพียงแต่เขามีลูกเล่น เขาช่วยเกษตรกรเป็นครั้งคราว เช่น มีปัญหาครั้งหนึ่งก็ออกกฎหมายช่วยชดเชยให้เฉพาะครั้งนั้น ๆ แล้วจบ ไม่มีกลไกถาวรจึงร้อง WTO ไม่ได้ ออสเตรเลียก็อุดหนุนเพียงแต่ยังไม่มีใครเอาเรื่อง"

ถ้ามุ่งเน้นว่าเป็นเด็กดีของ WTO บทบัญญัติหลายมาตราในร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯฉบับใหม่ แก้ไปหลายจุด เช่น มาตรา 17(8) แก้ไขแล้ว ตัดเรื่องการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายออก แต่หลายมาตรายังอาจถูกตีความได้ว่า ภาครัฐยังมีบทบาทแทรกแซงกลไกอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอยู่ เช่น ตัดเรื่องการรับเงินชดเชยจากรัฐบาลเปลี่ยนมาเป็นกองทุน แต่ก็ยังถูกมองได้ว่าเป็นภาครัฐ มาตรา 56 เรื่องคณะกรรมการบริหาร แม้ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนโรงงาน-ชาวไร่อ้อย แต่บางตำแหน่งถูกตีความได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเรื่องการชดเชยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นได้ เป็นต้น       
 

 

ศ.ทัชมัย กล่าวต่อว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.อ้อยฯ มีตัวแทนจากทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมนี้ พิจารณาออกกฎหมายภายใต้เป้าหมายอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลทรายต้องอยู่ได้ และเป็นประโยชน์กับประเทศ ส่วนข้อพิพาทกับบราซิลที่ไปร้อง WTO นั้น เราควรพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักแต่ไม่ควรตื่นตระหนก บราซิลร้องไทยมา 6 ปีแล้ว และยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศผู้ร้องและประเทศผู้ถูกร้องยังไม่ไปไหน จึงเชื่อมั่นได้ในทีมเจรจาของฝ่ายไทยที่เชื่อว่าเราเอาอยู่ และกรณีพิพาททางการค้านั้นถ้าพูดคุยกันดีๆ ก็จบสวยได้
 

 

โดยขั้นตอนการระงับข้อพิพาททางการค้าใน WTO เริ่มต้นในขั้นตอน Consultation ประเทศที่เห็นว่าถูกปฎิบัติไม่เป็นธรรม ยื่นร้องต่อ WTO จากนั้นประเทศผู้ร้องและประเทศผู้ถูกร้องต้องมาพูดคุยเจรจากันเองก่อน เป็นขั้นตอนทางการทูต ซึ่งไม่มีกำหนดกรอบเวลา เพียงแต่ถ้าพ้น 60 วันไปแล้ว ถ้าประเทศผู้ร้องเห็นว่าไม่คืบหน้า สามารถร้องตั้ง Panel  หรือการตั้งผู้พิพากษามาพิจารณาคดี 

 

กรณีน้ำตาลทรายของไทยที่บราซิลร้อง WTO  ผ่านมา 6 ปี ยังอยู่ในขั้นตอนแรก สะท้อนว่าทางบราซิลเองก็คงเห็นความคืบหน้าการดำเนินการของฝ่ายไทย จึงยังไม่ขยับสู่ขั้นตอนที่ 2 และหากคุยกันได้ข้อสรุปก็ยุติเรื่องได้ ส่วนคดีที่บราซิลร้องอินเดีย เรื่องขึ้นสู่ขั้นตอนตั้งผู้พิพากษา และมีการตัดสินคดีไปแล้วให้อินเดียแพ้ แต่อินเดียได้อุทธรณ์ และคดีน้ำตาลทรายไทยไม่ใช่คดีเดียว ใน WTO นั้นมีการยื่นร้อง 614 เรื่อง อยู่ในขั้นตอน Consultition 182 คดี    

 

ศ.ทัชมัยกล่าวอีกว่า หรือถึงแม้จะถูกยื่นตั้ง Panel มีผู้พิพากษามาตัดสินคดีนั้น ทางคดีก็มีขั้นตอนอีกยาว โดยหากมีคำพิพากษาออกมาและให้ไทยเป็นฝ่ายผิด ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ ซึ่งเวลานี้กลไกขึ้นอุทธรณ์ของ WTO ยังเป็นเป็ดง่อยอยู่ ซึ่งนี่อาจเป็นข้อดีของฝ่ายเรา รวมทั้งเมื่อถึงขั้นตอนบังคับคดีหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากเรายังไม่ปฎิบัติตาม ตามขั้นตอนทางบราซิลที่ประกาศตอบโต้ทางการค้า ต้องร้อง WTO ซ้ำ ว่าไทยดื้อแพ่งไม่ปฎิบัติตามคำตัดสิน ซึ่งก็มีขั้นตอนเช่นเดียวกับตอนร้องคดี แต่ใช้เวลาสั้นกว่า 

 

รวมทั้งไทยอาจท้วงขอตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาพิจารณาขนาดของการตอบโต้ ตามที่ทางบราซิลแจ้งมา เพื่อดูว่ารายการต่าง ๆ นั้น เหมาะสมแค่ไหนเพียงใด โดยระหว่างนี้บราซิลยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรออนุญาโตตุลาการสรุปก่อน จะเห็นว่ายังมีขั้นตอนอีกยาว 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ทัชมัยชี้ว่า มีจุดที่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยในคดีที่บราซิลร้องอินเดีย และอินเดียถูกตัดสินให้แพ้นั้น แม้อินเดียอ้างว่าการอุดหนุนราคานั้นทางโรงงานเป็นผู้จ่ายให้แก่ชาวไร่ก็ตาม คำพิพากษาชี้ว่า ก็ยังถือว่าเป็นการอุดหนุนราคา ซึ่งต้องระมัดระวังให้ดีในการเจรจาหรือต่อสู้คดีใน WTO