21 พ.ย. จับตา กนย.ไฟเขียว “ประกันรายได้ยางพารา” เฟส 4

30 ต.ค. 2565 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2565 | 13:17 น.

อัพเดท ประกันรายได้ยางพารา 65/66 เฟส 4 “อุทัย สอนหลักทรัพย์” กรรมการ กนย. แจ้งข่าวดี กนย. นัดประชุม วันที่ 21 พ.ย.นี้ ไฟเขียว รับเงินประกันราคายางสูงสุด 60 บาท/กก. คาดเคาะราคาชดเชยยาง ทีเดียว 2 งวด เหมือนปีที่แล้ว

21 พ.ย. จับตา กนย.ไฟเขียว “ประกันรายได้ยางพารา” เฟส 4

 

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรรมการและเลขานุการ กนย. ได้แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ได้กำหนดให้จัดประชุม กนย.  ครั้งที่ 1/2565  ในวันจันทร์ที่21 พฤศจิกายน  2565  เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมตีกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

 

โดยมีวาระการประชุม

 

วาระที่ 1  เรื่องประธานแจ้งที่ประชุมทราบ

 

วาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุม กนย. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564

 

วาระที่ 3 เรื่องเพื่อทราบ

 

                3.1   สถานการณ์ยางพารา  (โดย การยางแห่งประเทศไทย)

 

                3.2   ผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ  (โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)

 

วาระที่ 4 เรื่องเพื่อพิจารณา

 

                4.1  ขออนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4  (โดย การยางแห่งประเทศไทย)

 

                4.2  ขออนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ระยะที่ 2     (โดย การยางแห่งประเทศไทย) พร้อมขออนุมัติแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 15 ปี พ.ศ. 2566 – 2580    (โดย การยางแห่งประเทศไทย)

 

21 พ.ย. จับตา กนย.ไฟเขียว “ประกันรายได้ยางพารา” เฟส 4

 

 

นายอุทัย กล่าวว่า ส่วนในวาระที่ 5เรื่องอื่น ๆ   (ถ้ามี)    เรื่องภาษีสิ่งก่อสร้าง หากมีการบังคับใช้ จะทำให้เป็นปัญหาชาวสวนยาง ที่ราคาก็ไม่ดี จะต้องเสนอให้รัฐบาลทบทวนใหม่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวสวนยางในอนาคต เพราะทุกวันนี้ชาวสวนก็มีภาษีที่จ่ายมากกว่าอาชีพอื่น ก็คือภาษีส่งออก หรือ เงินเซสส์  นอกจากภาษี VAT ภาษีบำรุงท้องที่ แล้วยังจะต้องภาษีสิ่งก่อสร้างอีก เกรงว่าชาวสวนจะรับไม่ไหว

 

 

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ในโครงการประกันรายได้ยางพาราเฟส 4 จะเหมือนโมเดลปีที่แล้ว ที่จ่ายชดเชยทีเดียวพร้อมกัน 2 งวด

 

อนึ่ง โครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ผ่านมา 3  เฟสแล้ว โดยในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยางระยะที่1 "ธ.ก.ส." ได้โอนเงินให้เกษตรกรวันแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 มีสิทธิเข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ การยางแห่งประเทศไทย  ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562

 

 

 

พร้อมกับเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่การยางแห่งประเทศไทยกำหนดและต้องมีพื้นที่ปลูกยางพาราอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 งบประมาณ 24,278.62 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.7 ล้านคน ในพื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่

 

 

 

ส่วน โครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ระยะที่2 มติ คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ดำเนินการสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,286,186.03 ไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564

 

เฟส  3 โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวน เฟส 3 ดำเนินการเมื่อ 1 ต.ค.2564-มี.ค.2565 โครงการของบประมาณ 10,065.688 ล้านบาท งบที่ใช้จริง 2,319.59 ล้านบาท  

 

 

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อม เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลสวนยางไว้กับ การยางแห่งประเทศไทย กยท.สามารถตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง   ได้ที่ลิงค์  https://www.raot.co.th/gir/index/