รายงานข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย,สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล) เผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือลงวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ถึงผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เรื่อง สัญญาส่งมอบน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรระหว่างโรงงานน้ำตาลและบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด
สาระสำคัญระบุว่า ตามที่บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) และบริษัทโรงงานน้ำตาลทรายได้ร่วมลงนาม “สัญญาส่งมอบน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรระหว่างโรงงานน้ำตาลและบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด” ตั้งแต่ปี 2561-2565 จำนวน 3 ฉบับ (ฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2562 และฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2565) นั้น
ล่าสุด 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้รับทราบจากโรงงานสมาชิกว่า เนื่องจากการทำสัญญาทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว เป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 15 มกราคม 2561 ซึ่งขณะนี้ประกาศดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้นสัญญาทั้ง 3 ฉบับข้างต้น จึงมีสภาพพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติแล้ว
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้สัญญาทั้ง 3 ฉบับมีสภาพที่พ้นวิสัยที่ต้องปฏิบัติตามแล้ว แต่ในข้อเท็จจริงสำหรับฤดูการผลิต 2565/2566 โรงงานยังมีข้อผูกพันในการส่งมอบน้ำตาลทรายให้ อนท.จำนวน 8 แสนตันเพื่อใช้ทำราคาและคำนวณราคาน้ำตาลส่งออกอยู่ ซึ่งเวลานี้ อนท.ได้บริหารการจำหน่ายน้ำตาลล่วงหน้าในฤดูหีบอ้อยใหม่ที่มีสัญญาซื้อขายกับต่างประเทศไปแล้วสัดส่วนมากกว่า 50% ของปริมาณน้ำตาลที่จะส่งออก ดังนั้นทางโรงงานน้ำตาลจึงยังต้องส่งมอบน้ำตาลให้กับ อนท.เพื่อบริหารการส่งออก ไม่ให้เสียชื่อเสียงประเทศ
อย่างไรก็ดีเพื่อเตรียมแนวทางปฏิบัติใหม่ในฤดูการผลิตหน้า (ปีการผลิต 2566/2567) กรณีโรงงานน้ำตาลไม่ต้องส่งน้ำตาลให้กับ อนท.แล้ว ในเบื้องต้นทางโรงงานน้ำตาลได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการกำหนดราคาน้ำตาลทรายดิบเพื่อใช้คำนวณราคาอ้อยโดยวิธีใหม่ สาระสำคัญ คือ 1.โรงงานน้ำตาลจะส่งมอบน้ำตาลทราบดิบ จำนวน 4 แสนตันผ่านบริษัทส่งออกเพื่อมอบหมายให้บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือTSMC (TSMC เป็นสถาบันกลางในการกำหนดนโยบาย และเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของโรงงานน้ำตาลไทยที่มาจากทั้ง 3 สมาคม) ดำเนินการขายน้ำตาลให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการกำหนดราคาขายด้วย ทั้งนี้ TSMC จะเป็นผู้จัดสรรจำนวนน้ำตาลที่ส่งมอบของแต่ละโรงงานตามสัดส่วนผลผลิตให้กับ TSMC เหมือนที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน โดยสรุปคือTSMC จะทำหน้าที่ต่าง ๆ ข้างต้นแทน อนท.
2.บริษัทส่งออกน้ำตาล(ปัจจุบันมี 8 บริษัท)จะเป็นผู้ดำเนินการส่งออกน้ำตาลและรับเงินค่าน้ำตาลแล้วจึงนำส่งโรงงานน้ำตาลหลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วเหมือนที่เคยปฏิบัติตามปกติ 3.จาก TSMC จะได้รับมอบหมายจากบริษัทส่งออกให้ดำเนินการขายและกำหนดราคาขาย ในการนี้เห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการขาย เพื่อให้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งการเปิดประมูลขายน้ำตาลให้กับผู้ซื้อต่างประเทศในนามบริษัทส่งออก, การกำหนดราคาน้ำตาล โดยการส่งคำสั่งขายผ่านไปยังบริษัทส่งออก เพื่อบริษัทส่งออกจะได้ส่งคำสั่งขายดังกล่าวต่อไปยังผู้ซื้อตามสัญญา และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของรายได้จากการขายน้ำตาลที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นการล่วงหน้า และ 3.TSMC ทำหน้าที่จัดสรรโดยผ่านทางบริษัทส่งออก ให้โรงงานน้ำตาลทุกโรง (ปัจจุบันเปิดดำเนินการ 57 โรง) ได้รับเงินค่าน้ำตาลเป็นเงินบาท ในราคาเฉลี่ยที่เท่ากันเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“แนวทางปฏิบัติใหม่นี้ยังเป็นการหารือและเป็นแนวทางในเบื้องต้น ซึ่งต้องรอดูว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งนี้ถ้าจะทำคงต้องหารือร่วมกันของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายอีกครั้ง คาดจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้”
ด้าน นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าโรงงานน้ำตาลยังต้องปฏิบัติตามสัญญาในการส่งมอบน้ำตาลทรายดิบจำนวน 8 แสนตันให้กับ อนท.เพื่อใช้ทำราคาและคำนวณราคาส่งออกอยู่ เพราะถือเป็นสัญญาเอกชนกับเอกชน โดย อนท.ถือเป็นบริษัทเอกชน และมีสัญญาซื้อขายน้ำตาลกับโรงงานน้ำตาลที่เป็นเอกชนเช่นกัน ในมุมมองสัญญาทั้ง 3 ฉบับข้างต้นยังมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ได้ประสานให้นักกฎหมายให้ช่วยดูสาระสำคัญของสัญญาและช่วยตีความ ในเบื้องต้นจากที่ได้อ่านสัญญาทั้ง 3 ฉบับ ยอมรับว่ายังตอบยากว่าพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามหรือยัง
“ในจำนวนน้ำตาลทรายดิบ 8 แสนตันที่โรงงานมีสัญญาส่งมอบให้ อนท.เพื่อใช้ทำราคาและคำนวณราคาน้ำตาลส่งออก และเพื่อใช้คำนวณในระบบการแบ่งผลประโยชน์ ชาวไร่อ้อยกับโรงงาน 70 : 30 ในจำนวนนี้ อนท.มีสิทธิส่งออกผ่านบริษัทส่งออก 4 แสนตัน และอีก 4 แสนตัน จะขายคืนให้โรงงานน้ำตาล”
แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลเผยอีกว่า จากที่ผู้แทนฝ่ายโรงงานได้ลาออกจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และคณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายหลายชุด เพื่อแสดงการคัดค้านในการนำ “กากอ้อย”เป็นผลพลอยได้ที่ต้องนำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ และประกาศเดินหน้าสู่ระบบกลไกเสรีที่ภาครัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซง ทำให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบในเวลานี้สะดุดลง ล่าสุดทราบมาว่า 3 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง (อุตสาหกรรม,เกษตรและสหกรณ์,พาณิชย์) จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อ้อยฯในการแต่งตั้งผู้แทนจากฝ่ายโรงงานบางโรงเข้าไปเป็นคณะกรรมการ กอน.เพื่อที่ กอน.ได้มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฯให้เดินหน้าได้ต่อไป
อนึ่ง บริษัทส่งออกน้ำตาลทราย ณ ปัจจุบันมี 8 บริษัทได้แก่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด (บจก.), บจก.แปซิฟิค ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น, บจก.ส่งออกน้ำตาลสยาม, บจก.ที.ไอ.เอส.เอส., บจก.การค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล, บจก.เค.เอส.แอล.เอ็กซ์ปอร์ตเทรดดิ้ง, บจก.เวิลด์ ชูการ์ เอ็กซ์ปอร์ต และ บจก.ร่วมกำลาภเอ็กซ์พอร์ต
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3832 วันที่ 3 – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565