นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อ)ของไทย เดือนตุลาคม 2565 เท่ากับ 108.06 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 101.96 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 5.98 (YoY) น้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา (ก.ย.)ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.41 (YoY) โดยชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
ทั้งนี้มีปัจจัยจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในกลุ่มอาหาร จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยกันดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการกำกับ ดูแลและควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศ (ข้อมูลล่าสุด ณ ก.ย.2565) ยังคงอยู่ในระดับสูง และสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งประเทศในอาเซียน อาทิ ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และประเทศสำคัญ อาทิ สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี และอินเดีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา
โดยมีการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวเนื่องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ร้อยละ 9.58 (YoY) ตามอัตราที่ชะลอตัวของกลุ่มอาหารสด ที่ร้อยละ 10.48 จากร้อยละ 10.97 ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญที่ราคาชะลอตัว อาทิ เนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ผักสดและผลไม้ (ต้นหอม ผักบุ้ง ส้มเขียวหวาน แตงโม) รวมทั้ง เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ปรับลดลง อาทิ แป้งข้าวเจ้า ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยน้ำว้า มะพร้าวผลแห้ง/ขูด และมะขามเปียก เป็นต้น
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ร้อยละ 3.56 (YoY) ตามการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของกลุ่มพลังงาน โดยสูงขึ้นร้อยละ 13.07 จากร้อยละ 16.10 ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้ง ค่ายาและเวชภัณฑ์ ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ราคาชะลอตัวเช่นกัน สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ หน้ากากอนามัย แป้งผัดหน้า เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า เป็นต้น
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออก) อยู่ที่ร้อยละ 3.17 (YoY) สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนตุลาคม 2565 เทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.33 (MoM) สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ตามราคาผักสดบางประเภทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะที่ เนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ผลไม้ (ส้มเขียวหวาน ลองกอง) เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม น้ำปลา) อาหารโทรสั่ง (Delivery) และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ราคาปรับลดลง และดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.15 (AoA)
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนตุลาคม 2565 ชะลอตัวร้อยละ 9.9 (YoY) เทียบกับร้อยละ 10.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตามการชะลอตัวของสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังสูงกว่าปีก่อน คือ ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง และเงินบาทที่อ่อนค่า
ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนตุลาคม 2565 ชะลอตัวร้อยละ 3.6 (YoY) จากร้อยละ 5.2 ในเดือนก่อนหน้า ตามราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงกว่าปีก่อนยังคงมีสาเหตุจากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ปัญหาอุทกภัย และราคาพลังงานที่สูงขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 47.7 จากระดับ 46.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ยังอยู่ในความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.7 สาเหตุมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในช่วงที่เหลือของปี และราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะกดดันต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้ในระยะต่อไป
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2565 คาดว่าจะชะลอตัว ตามราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการที่ชะลอตัวลง และบางรายการราคาทรงตัวแม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย จะส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่อุปทานยังตึงตัว อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออก การท่องเที่ยว และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 5.5 - 6.5 (ค่ากลางร้อยละ 6.0) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย