ขณะที่ประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจอย่างจีนออกมาประกาศทบทวนนโยบายด้านเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองมากขึ้น หลังได้รับบทเรียนในช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งภาพของโลกในปีหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางแนวโน้มไว้อย่างน่าสนใจ
รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า ขอโฟกัสไปยังผู้มีบทบาททางเศรษฐกิจโลกอย่างจีนก่อน เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเชื่อมโยงกับหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการค้า-การลงทุน โดยประเมินว่าต่อจากนี้ไปจีนคงเน้น 3 ด้านหลัก คือ 1.ความทันสมัย เช่น ระบบการเมืองการปกครองที่ทันสมัย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด มีการพัฒนาด้านการเมืองที่มั่นคง 2.สร้างความมั่งคั่งร่วมกันของประชาชนจีน หาทางกระจายรายได้ไม่ให้เกิดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทุกด้านมากเกินไป
และ 3.เน้นการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเปิดกว้างด้านเศรษฐกิจและมีการปฏิรูปเศรษฐกิจมากขึ้น เช่นการเปิดกว้างด้านการเงิน เร่งพัฒนาตลาดหุ้น และการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยทั้ง 3 เรื่องนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ หรือขับเคลื่อนด้วยความทันสมัยของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่พัฒนาด้วยตัวเอง
“หลังจากที่อเมริกาไม่ยอมขายชิปที่มีคุณภาพสูงให้แก่จีนและไม่ยอมขายเครื่องมือผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้ อีกทั้งอเมริกาไม่ยอมให้บุคลากรอเมริกา ถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือช่วยทำงานให้กับจีน ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดโลก 2 ขั้วขึ้น ระหว่างจีนกับอเมริกา”
สำหรับการเกิดโลก 2 ขั้วนี้ ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องระวัง จะต้องรู้จักสร้างสมดุล สร้างสัมพันธ์ให้ได้กับทั้งจีนและอเมริกาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออาเซียน อย่างไรก็ตามในปี 2566 ยอมรับว่าอาเซียนจะต้องเผชิญกับความซับซ้อนและยุ่งยากในการสร้างความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ขั้วนี้ เพราะทั้ง 2 ขั้วต้องการหาพันธมิตรมากขึ้น ดังนั้นไทยเองจะต้องระวังในการสร้างสมดุลเช่นกัน เพราะเป็นตลาดใหญ่ทั้งคู่
“ถ้าเราพลาดไปเราก็จะกลายเป็นหญ้าแพรกที่อยู่ภายใต้ช้าง 2 เชือกที่กำลังต่อสู้กัน”
ปัจจุบันประเทศในกลุ่มอาเซียน บางประเทศก็ใกล้ชิดจีน บางประเทศก็ใกล้ชิดอเมริกา และบางประเทศใกล้ชิดรัสเซีย ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องใกล้ชิดกับทุกฝ่าย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
รศ.ดร.สมภพ กล่าวย้ำว่า นับจากนี้ไปนอกจากไทยต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ที่ดีต่อจีนและอเมริกาแล้ว ปี 2566 อยากส่งสัญญาณถึงสิ่งที่ต้องระวังคือ เศรษฐกิจโลกจะเกิดความผันผวนมากในหลายด้าน และจะเป็นความผันผวนที่มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ด้านอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยที่จะยังผันผวนขึ้นลง ทั้งหมดจะกลายเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจนไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession)ได้
แต่ขณะเดียวกันก็เป็นปีที่มีโอกาส จากภาคท่องเที่ยวที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ละประเทศจัดการกับวิกฤติโควิดได้ดีขึ้น เปิดประเทศได้มากขึ้น ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศจะมีการขยายตัวมากขึ้นในตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศไทยต้องเร่งดึงดูดการลงทุนรอบใหม่จากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ โดยเฉพาะจีนกับญี่ปุ่น ที่จะออกมาลงทุนนอกประเทศมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนต้องออกมาตั้งฐานการผลิตนอกบ้านมากขึ้น เพื่อลดการแซงชั่นจากคู่ต่อสู้ให้น้อยลง หากออกมาลงทุนในไทยหรือในอาเซียนก็เท่ากับว่าผลผลิตนั้นมีแหล่งที่มาจากนอกประเทศจีน เป็นต้น
ส่วนปี 2565 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป คาดการณ์จีดีพีของจีนน่าจะเติบโตลดลงเหลือ 3.5% เทียบกับปีก่อน ๆ เติบโต 5-6% ผลจาก 2 ตัวแปรหลัก คือ เศรษฐกิจโลกแย่ลง และหลายประเทศต้องล็อกดาวน์จากวิกฤติโควิด แต่คาดการณ์ปี 2566 จีดีพีจีนน่าจะเติบโตดีขึ้น โดยจะขยายตัวได้ประมาณ 4.5% โลกเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยไทยก็จะได้อานิสงส์ด้วย แต่ถ้าโลกไม่เผชิญความเสี่ยง จนเศรษฐกิจโลกถดถอยลงไปอีก จีดีพีจีนน่าจะเติบโตได้มากกว่า 5% ขึ้นไป
สำหรับประเทศไทย ปี 2566 จะเผชิญทั้งความเสี่ยงและโอกาส โดยเฉพาะโอกาสที่มาจากปัจจัยภายนอก จากภาคท่องเที่ยว เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมา ไทยต้องรีบเปิดมาตรการใหม่ ๆ ออกมาเสริม เพื่อปลุกการท่องเที่ยว นอกจากนี้จากไทยที่มีความพร้อมด้านการลงทุน ดังนั้นในเวทีการประชุม APEC ต้องทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านท่องเที่ยว การลงทุน และการค้าให้ดี โดยเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย และกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยให้ 21 เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมรับรู้ข้อมูล
ทั้งนี้จาก 21 เขตเศรษฐกิจของ APEC มีขนาดจีดีพีสัดส่วนถึง 60% ของโลก และมีมูลค่าตลาดจากการค้าต่างประเทศสัดส่วน 50% ของโลก มีประชากรรวมกันประมาณ 40% ของโลก (ประชากรโลกมี 7,900 ล้านคน) โดยประเทศไทยคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2566 จะเติบโตราว 4% โดยจะได้อานิสงส์หลักมาจากภาคท่องเที่ยว และจากการลงทุน