อลงกรณ์ ตั้งทีมพัฒนาโคขุน-โคนม-โคพื้นเมือง-วัวลาน "ครบวงจร"

12 พ.ย. 2565 | 04:59 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2565 | 12:08 น.

“อลงกรณ์” รวมพลคนปศุสัตว์ ตั้งทีมพัฒนาโคขุน-โคนม-โคพื้นเมืองและวัวลานแบบ "ครบวงจร" สู่มาตรฐานใหม่ พร้อมดึงโครงการ ‘เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์’ ศูนย์AIC และคณะทำงานฮาลาลเสริมทัพ เพิ่มการแปรรูปและส่งออก ยกระดับรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวานนี้ (11 พ.ย.) ภายหลังเป็นประธานการประชุมการพัฒนา โคขุน โคนม โคพื้นเมือง และ วัวลาน กีฬาประเพณีวิถีไทยครั้งที่1/2565 ว่า การจัดระดมพลคนปศุสัตว์กลุ่มโคโดยผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการปศุสัตว์อย่างเป็นระบบครบวงจรและยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาอาชีพปศุสัตว์สู่เกษตรมูลค่าสูงตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” และแนวทาง “เพชรบุรีโมเดล

 

นับเป็นก้าวใหม่ที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน หากมีการยกระดับการพัฒนา จะเพิ่มศักยภาพ เพิ่มโอกาส ให้เกษตรกรมากขึ้น และเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ให้กับเพชรบุรี ซึ่งเลี้ยงและจำหน่ายโคกว่า140,000 - 150,000 ตัวต่อปี ทั้งนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบต่อไป

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  • แนวทาง “เพชรบุรีโมเดล”

จังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคขุน โคนม และโคพื้นเมืองมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ทั้งยังมีวัวลาน กีฬาประเพณีวิถีไทย ถือเป็นฐานอาชีพสร้างรายได้สำคัญของเกษตรกร จึงมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อยอดยกระดับการพัฒนาแบบครบวงจร

 

ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ พันธุ์โค อาหารสัตว์ มาตรฐานฟาร์มการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มาตรฐานฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) คอกกักมาตรฐานเอกชนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และปลอดโรค FMD การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ การตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์ และการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น กรณีของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและพรีเมียมบีฟ (Premium Beef) สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ เช่น สันนอก สเต็กแช่แข็ง ลิ้นแองกัสสไลด์แช่แข็ง เนื้อหมักกระเทียมพริกไทยเสียบไม้ เนื้อแดดเดียวท่าแร้ง เนื้อตุ๋นสมุนไพร ลูกชิ้นเนื้อ เป็นต้น

 

วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและพรีเมียมบีฟ สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกโคไปต่างประเทศ สู่ตลาดมาเลเซีย เวียดนาม และจีน ซึ่งจะได้เจรจากับประเทศลูกค้า รวมทั้งการส่งเสริมการค้าการลงทุนกับซาอุดีอาระเบียและดูไบในโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีมติเห็นชอบสนับสนุนเมื่อเร็วๆนี้

 

  • ช่องทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค

สำหรับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคขุน มุ่งการพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์ม โดยพัฒนากลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคขุน เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม (GAP) ฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรค(GFM) และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นฟาร์มตัวอย่างให้เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ ส่งเสริมรูปแบบการเลี้ยงที่ทันสมัย ประหยัด ลดต้นทุนการผลิต และการขยายตลาด สนับสนุนและยกระดับฟาร์มให้มีรูปแบบการผลิตเนื้อโคขุนที่มีคุณภาพ เพื่อส่งตลาดทั่วไปและตลาดพรีเมี่ยม  เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า

 

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มี “ตลาดกลางปศุสัตว์โค” เพื่อเพิ่มช่องทางการซื้อขายให้เกษตรกร ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมการแปรรูปเนื้อโค สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เนื้อของเพชรบุรี รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเลี้ยงโคไทยวากิว โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ศูนย์AICจังหวัดนครราชสีมาสนับสนุน ทั้งนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีรายงานว่า ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกร 5,571 ราย โค 80,717 ตัว

 

ส่วนแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีการพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์ม พัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม GAP ฟาร์มปลอดโรค ส่งเสริมเกษตรกรโคนมรุ่นใหม่ เพื่อปรับปรุงรูปแบบ เทคนิคการเลี้ยงที่ทันสมัย เช่น การปรับปรุงพันธุ์ การขุนโคนมเพศผู้ ในด้านการส่งเสริมการตลาด มีการส่งเสริมการแปรรูป เพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์เช่น เนย โยเกิร์ต ชีสและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมของเกษตรกรและผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงเกษตร ส่งเสริมให้มีการเพิ่มแนวทางการเลี้ยงโคนมนอกจากผลิตน้ำนมโคแล้วจะมีการผลิตโคขุนจากโคนมด้วย

 

ทั้งนี้ จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศูนย์ความเป็นเลิศโคนมและเป็นศูนย์AICจังหวัดสระบุรีมาสนับสนุนด้วย ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกร 370 ราย โค 13,840 ตัว

 

ทางด้านแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคพื้นเมือง มุ่งการจัดตั้งกลุ่มเครือข่าย ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงโคพื้นเมือง และกลุ่มโคลานเพชรบุรี ปศุสัตว์แปลงใหญ่ การพัฒนาการเลี้ยง และการอนุรักษ์พันธุ์โคพื้นเมือง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์( GI ) ซึ่งเป็นอัตตลักษณ์ของเพชรบุรี การส่งเสริมประเพณีการประกวดและการแข่งขันวัวลาน โดยจะสนับสนุนให้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาและการพัฒนาสนามกีฬาแข่งวัวลานที่เป็นมาตรฐาน 1 อำเภอ 1 สนามแข่ง โดยศึกษาแนวทางของสนามแข่งม้าที่มีระเบียบและกฎหมายรองรับ

 

  • นำ "วัวลาน" สู่กีฬาประเพณีวิถีไทย-เกษตรท่องเที่ยว

นอกจากนี้ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าชม “วัวลาน” กีฬาประเพณีวิถีไทยในรูปแบบเกษตรท่องเที่ยวเช่นเดียวกับสนามกีฬาวัวกระทิงของประเทศสเปนและสนามม้าแข่งในไทยและในประเทศอังกฤษ รวมทั้ง การส่งเสริมวัวเทียมเกวียน การประกวดพันธุ์วัวและวัวสวยงาม โดยมีศูนย์ AICจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาและต่อยอด ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกร 10,472 ราย โค 169,865 ตัว

 

“จะมีการประชุมครั้งที่2ในเดือนหน้าเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดโดยนำร่องจังหวัดแรกก่อนขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆโดยเร็วต่อไปโดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันตก และวันที่ 24 พ.ย.นี้ สภาอุตสาหกรรมภาคกลาง17จังหวัดได้เชิญตนไปประชุมหารือความร่วมมือในโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ และจะนำเสนอโครงการพัฒนาปศุสัตว์แบบครบวงจรต่อที่ประชุมด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสของการลงทุนและการค้าให้กับจังหวัดเพชรบุรีและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคโดยนำร่องจังหวัดแรกก่อนขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆโดยเร็วต่อไปโดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันตก” นายอลงกรณ์กล่าวในท้ายที่สุด

 

การประชุมการพัฒนาโคขุน โคนม โคพื้นเมือง และวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยครั้งที่1/2565

 

ในการประชุมการพัฒนา โคขุน โคนม โคพื้นเมือง และ วัวลาน กีฬาประเพณีวิถีไทยครั้งที่1/2565 เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา มีบุคลากรและผู้แทนหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วย

  • นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
  • นายสัตวแพทย์อนันต์ ฤกษ์ดี คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • นายยุษฐิระ บัณฑกุล ปศุสัตว์เขต 7 ผู้แทนกรมปศุสัตว์
  • นายกรรัตน์ คุ้มกระ ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี
  • นางสาวจินตะณา ปิ่นสุภา พาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี
  • ว่าที่ ร.ต. อาณัติ หุ่นหลา เกษตรจังหวัดเพชรบุรี
  • นายเจษฎา สาระ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี
  • นายยุทธนา แก้วน้อย สหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี
  • นางอาทิตา กลิ่นสุวรรณ อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี
  • นายธีระ จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบุรี
  • นางสาวสุกัญญา มีนา ประธานสมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเพชรบุรี
  • นายลำภู เสือสอาด ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมชะอำ-ห้วยทราย
  • นายวิชิต จาดศรี ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่
  • นายทินกร ศิริสมบัติ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติด้านโคนม
  • นายทาบ พึ่งโพธิ์ทอง กลุ่มแปลงใหญ่โคเนื้อหนองขนาน
  • นายคำรณ ศรีแจ้ กลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อพุสวรรค์
  • ผู้แทนเครือข่ายวัวลาน ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงโค
  • นายมานพ โตการค้า ผู้บริหารโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์
  • ผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AICเพชรบุรี) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  • ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ
  • ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง