ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กำหนดเป้าหมายเกษตรกรให้สามารถมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรด้วยการชดเชยการประกันรายได้ ส่งเสริมระบบประกันภัยสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สำหรับโครงการประกันรายได้ปีที่ 4 ล่าสุด (15 พ.ย. 2565) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าววงเงิน 18,700 ล้านบาท พ่วงมาตรการคู่ขนานและเงินช่วยเหลือต้นทุน และค่าสนับสนุนบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน โดยจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท วงเงิน 55,083 ล้านบาท รวมใช้วงเงินทั้งสิ้น 81,265.90 ล้านบาท
ทั้งนี้ตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 วงเงิน 55,083.086 ล้านบาท มาจาก 1. งบกลาง จำนวน 39,858.086 ล้านบาท และ 2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกรมการข้าว รายการเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 15,225 ล้านบาท
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมประกันรายได้เกษตรกร ปี 4 ที่ทำมาต่อเนื่อง ไม่มีลูกเล่นใหม่ ซึ่งนโยบายที่ดีหากทำปีแรกไปแล้ว ปีที่ 2 จะต้องปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในแง่ของภาพรวมอุตสาหกรรมต้องดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าโครงการได้ถูกใช้ในการหาเสียงเป็นหลัก
"ไม่ได้มองในแง่ของการแข่งขัน หรือทำให้เกษตรกรยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ นโยบายประกันรายได้ จึงเป็นการแช่แข็งเกษตรกรให้ติดกับดักมีรายได้ต่ำ เห็นได้จากเกษตรกรมีการแตกครัวเรือนเพิ่มเพื่อรับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้ โดยจากข้อมูลปี 2557 มีชาวนาอยู่ 3.4 ล้านครัวเรือน แต่ปี 2565 มีชาวนาเพิ่มเป็น 4.675 ล้านครัวเรือน ผลตามมาคือ ผลผลิตข้าวไทยยังตํ่า ยังสู้เวียดนามไม่ได้ เพราะนโยบายนักการเมืองทำให้ต้องเร่งปลูกและเก็บเกี่ยวในระยะสั้น ไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว"
ในอดีต “พรรคไทยรักไทย” ได้ออกนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ส่งผลชาวนาติดกับดักประชานิยม ทำให้นักการเมืองต้องออกนโยบายมาเกทับกัน ตรงนี้น่าเป็นห่วง หากมองย้อนกลับไปในรอบ 10 ปี โครงการจำนำข้าวและประกันรายได้เกษตรกร ทำให้รัฐต้องควักจ่ายรวมกันไปแล้วกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ( “ประกันรายได้เกษตรกร” รัฐบาลประยุทธ์ 6 แสนล้านบาท ระยะเวลา 4-5 ปี - “จำนำข้าว” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ระยะเวลา 3 ปี ประมาณ 6 แสนล้านบาท) ความเสียหายเหมือนกัน
แต่ต่างจำนวนปี คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 ปี แต่ความเสียหายเป็น 2 เท่าของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ไม่ต้องเก็บสต๊อกข้าว แต่อุตสาหกรรมข้าวก็ไม่ดีขึ้น เกษตรกรก็ไม่ได้รวยขึ้น อ่อนแอทั้งระบบ เนื่องจากนโยบายประชานิยมไปครอบงำระบบราชการ และเกษตรกร สิ่งที่น่ากลัวในอนาคตคือนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตรแบบไม่มีเงื่อนไข จะสร้างหายนะให้กับภาคเกษตรไทย
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ให้ความเห็นว่า งบประมาณชดเชยรายได้เกษตรกรในการประกันราคาข้าว 5 ชนิด ที่จะจ่ายให้กับชาวนา วงเงิน 18,700.13 ล้านบาทในปีที่ 4 นี้ ถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา จะเพียงพอจ่ายหรือไม่จะต้องพิจารณาว่า การจ่ายงวดแรกเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และระบุวันที่คาดว่าเก็บเกี่ยวก่อน 15 ตุลาคม จะคงเดิมหรือไม่ หรือเหมาเข่งรวบเกษตรกรในช่วงก้อนใหญ่ และราคาข้าวโดยเฉลี่ยสูงด้วย ถ้ารวบยอดแล้วชาวนาเสียเปรียบ คงถูกต่อว่าแน่ แต่คาดว่ากรมการค้าภายในไม่น่าที่จะทำ คาดจะซอยเป็นงวด ๆ ตามปกติ
“วงเงิน 18,700.13 ล้านบาท ค่อนข้างเสี่ยง พอเห็นตัวเลขตกใจ ว่าใจถึงมาก แต่ถ้าย้อนมองกลับไป ราคาข้าวเปลือกแทบทุกชนิด เกินราคาประกัน โดยราคาขายเกี่ยวสดข้าวหอมมะลิ 11,000 บาทต่อตัน แต่ถ้านับจากวันที่ 10 พ.ย. เป็นต้นมา จะเห็นราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับลดลงมาเรื่อยๆ แต่ราคาจะลงมาลึกหรือไม่ ไม่ทราบ และตอนนี้รอบนาปี ข้าวก็เบาบางลงเรื่อยๆ ชาวนาก็ทยอยเก็บเกี่ยว และช่วงข้าวจะออกมามากก็จากวันนี้ (16 พ.ย.65) ไปถึงสิ้นเดือน แต่ปีนี้อาจจะล่าช้า ลากยาวไปถึงวันที่ 10 ธันวาคม และจากนั้นก็เบาบางไป ตอนนี้ เกินราคาประกัน ชาวนารู้อยู่แล้วไม่ได้เงินชดเชย แต่ที่อยากได้คือ ไร่ละ 1,000 บาทมากกว่า”
นายสุทธิ สานกิ่งทอง นายกสมาคมค้าข้าวไทย (หยง) กล่าวว่า ถ้าคำนวณจากราคาข้าวเปลือกและข้าวสารในปัจจุบัน ซึ่งมีราคาสูงกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนค่อนข้างมาก จะทำให้ใช้งบประมาณในส่วนของเงินจ่ายชดเชยส่วนต่างน้อยลงไปมาก ดังนั้นถ้าราคาสามารถยืนทรงในระดับนี้ หรือขยับสูงขึ้น งบประมาณก็อาจเพียงพอ แต่ในทางกลับกัน ถ้าราคาหล่นลง ก็จะทำให้ต้องจ่ายส่วนต่างมากขึ้น ก็อาจทำให้วงเงินงบประมาณในส่วนนี้ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาด ว่าราคาจะไปในทิศทางใด ซึ่งจะมีการประชุมเคาะราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเป็นรายสัปดาห์
ขณะที่นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ฝากรัฐบาลกำกับดูแลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะเงินส่วนต่าง และเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จะตรงกับครบรอบปี ที่ชาวนาจะต้องจ่ายหนี้ให้ธ.ก.ส. ดังนั้นขออย่าให้ ธ.ก.ส. มาหักหนี้ หรือดอกเบี้ยชาวนาจากเงินส่วนนี้ ซึ่งในปีนี้ข้าวราคาสูง รัฐจ่ายส่วนต่างน้อย อยากให้นำเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นมากกว่า
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,837 วันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2565