จากเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้มีหนังสือทวงถามความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารสัตว์และผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ ไปยังนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ซึ่งหลังส่งหนังสือฉบับก่อนหน้าไปแล้ว 2 เดือนทางสมาคมฯระบุไร้เสียงตอบรับ
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยว่า สมาคมได้พยายามนำเสนอปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2564 และเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาดำเนินการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) โดยมีเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดปริมาณนำเข้า และเวลานำเข้าในช่วงสั้น ๆ (พ.ค.-ก.ค. 2565)
ทั้งนี้เป็นการดำเนินการใน 1 จาก 3 ข้อที่สมาคมฯได้ร้องขอ แต่ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับลดลงได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 สมาคมได้มีหนังสือไปถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และมีหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้รัฐบาลปรับนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารสัตว์ และผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด
“สมาคมฯคงอยู่เฉยไม่ได้ เพราะมีสมาชิกร้องเรียนเข้ามาว่าได้ยื่นเสนอโครงสร้างต้นทุนราคาวัตถุดิบ เพื่อขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ ตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ไปยังคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มา (กกร.) แล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด โดยการขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (Price list) ครั้งสุดท้ายต้องย้อนไปถึงปี 2555 ซึ่งตอนนั้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสัดส่วนกว่า 70% ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาต่ำกว่าปัจจุบันนี้อย่างมาก” นายพรศิลป์ กล่าว และว่า
สมาคมฯได้คาดการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะยังคงสูงต่อเนื่องไปอีก 6 เดือนต่อจากนี้ จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงมีความไม่แน่นอน และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบมีราคาที่สูงขึ้น จึงต้องมีหนังสือติดตามความคืบหน้าไปอีกฉบับเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำแบบเร่งด่วนที่สุดในเวลานี้ คือ การอนุมัติปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นในทันที เช่นเดียวกับที่ทำให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้นทุนสูงขึ้นตามราคาข้าวสาลี และต้องทำควบคู่ไปกับการปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ