สถานการณ์ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไรนั้น นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ผ่านมากว่า 5 เดือนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนยังคงอยู่ ผู้ประกอบการทุกรายพยายามวางแผนบริหารจัดการการใช้วัตถุดิบ โดยหันมาใช้วัตถุดิบทดแทนในประเทศบางส่วน และพยายามนำเข้าวัตถุดิบมาเติมเต็ม ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-มิ.ย.) มีการนำเข้าข้าวโพดชายแดนประมาณ 7 แสนตัน และมีการนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ประมาณ 6 หมื่นตัน รวมถึงข้าวสาลีประมาณ 3 แสนตัน
“ในขณะนี้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยกำลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาดจึงมองว่ามีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิตตลอดทั้งปี แต่ในส่วนของราคาวัตถุดิบนั้นถือว่ายังปรับตัวสูงจากภาวะสงคราม จากนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของหลายประเทศ รวมถึงค่าขนส่ง ค่าพลังงานที่สูง และเงินบาทที่อ่อนค่ากระทบราคานำเข้าสูงขึ้น”
เทียบราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ เดือนมิ.ย. 2564 อยู่ที่ 9.83 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะที่เดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 13.12 บาท ต่อ กก. สูงขึ้น 33.5%, กากถั่วเหลือง มิ.ย. 2564 อยู่ที่ 17.66 บาท ต่อ กก. เดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 21.73 บาท ต่อ กก. สูงขึ้น 23% ขณะที่วัตถุดิบอื่น อาทิ ข้าวสาลี ปลาป่น ปลายข้าว และมันสำปะหลัง ราคาสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 15-20%
ส่วนมาตรการ 3 : 1 (ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) นายพรศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ยกเว้นมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราว และขยายโควต้าให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบ WTO ได้ไม่เกิน 6 แสนตัน โดยยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียม ซึ่งต้องนำเข้าภายในระยะเวลาไม่เกิน 31 กรกฎาคม 2565 ทั้งนี้หลังมีมาตรการผ่อนปรน ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้มีการขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีทั้งสิ้นประมาณ 210,025 ตัน และนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO ประมาณ 56,405 ตัน รวมการนำเข้าภายใต้มาตรการผ่อนปรนจำนวน 266,430 ตัน คิดเป็น 22% ของเป้าหมายนำเข้าที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านตัน
“สาเหตุจากหลายประเทศมีนโยบายระงับการส่งออก ทำให้การจัดหาวัตถุดิบได้ยากขึ้น ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และจะต้องเร่งนำเข้าให้ทันกับกรอบระยะเวลาที่รัฐกำหนด อย่างไรก็ตามมีการนำเข้าข้าวสาลีนอกเหนือการผ่อนปรน (ใช้ผลิตอาหารกุ้งและอาหารสัตว์เลี้ยง) อีกประมาณ 93,923 ตัน และยังมีการนำเข้าข้าวโพดชายแดน (AFTA) อีกประมาณ 623,936 ตัน ทำให้การนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลีในเดือนเมษายนถึง 31 กรกฎาคม รวมทั้งสิ้นประมาณ 984,290 ตัน ส่วนของการขอลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ภาครัฐยังไม่ยอมพิจารณาตามสัญญาที่ให้ไว้”
อย่างไรก็ดี การผ่อนปรนมาตรการของรัฐทั้ง 2 ส่วน ช่วยให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์มีทางเลือกการใช้วัตถุดิบมากขึ้น และมีความคล่องตัวในการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาปริมาณวัตถุดิบที่ขาดแคลนได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีผลกระทบในเรื่องของต้นทุนที่สูง ขณะที่กรมการค้าภายในควบคุมราคาขายอาหารสัตว์ เป็นผลให้โรงงานหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุน แต่ผู้ประกอบการแต่ละรายยังคงพยายามรักษาฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มลูกค้าประจำเอาไว้ ทั้งนี้แม้จะมีสมาชิกสมาคมฯยื่นเรื่องขอปรับโครงสร้างราคาไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีรายใดได้รับการอนุมัติ
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้ช่วยเหลือตัวเอง อาทิ สร้างทางเลือกและสรรหาวัตถุดิบทดแทนใหม่เพื่อช่วยลดต้นทุน แต่ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหามาตรการนำเข้า เช่น โควต้า และภาษี นอกจากนี้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตลดต้นทุนโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้ระบบ AI เพื่อชดเชยต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น รวมถึงเตรียมการปรับโครงสร้างการผลิตให้รองรับมาตรการใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ การลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต
“แนวโน้มต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ยังทรงตัวสูงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกปี 2566 ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวและเตรียมแผนรองรับ โดยปัจจัยที่ส่งผล ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบผันผวน นโยบายความมั่นคงด้านอาหารของหลายประเทศ โดยการชะลอการส่งออกวัตถุดิบทำให้ราคายังสูง ราคาพลังงาน ทั้งนํ้ามันดิบ ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ยังทรงตัวระดับสูง แต่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และเงินบาทคาดยังคงทิศทางอ่อนค่ามีผลต่อต้นทุนการนำเข้าอย่างมีนัยยะ”
ข้อเสนอต่อภาครัฐในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ ขอให้พิจารณาลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิด และยกเลิกมาตรการที่บิดเบือนกลไกตลาดทุกชนิด