2 บิ๊กยาง มองต่างมุม "แก้ราคาตก" ขอรัฐ 4 หมื่นล้าน ให้เอกชนซื้อเก็บ

02 ธ.ค. 2565 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2565 | 10:13 น.

2 บิ๊กยาง จี้รัฐเร่งแก้ราคายางตก “นอร์ทอีส รับเบอร์” ชงรัฐช่วย 4 หมื่นล้าน อัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำดึงซัพพลาย 1 ล้านตัน “ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ฯ” จี้เร่งไฟเขียวประกันรายได้ยางปี 4 พร้อมปล่อยตามกลไกตลาด หลังคำสั่งซื้อต่างประเทศแผ่ว

 “ราคายางพาราตกต่ำ” เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของชาวสวนยางทั่วประเทศที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคของรัฐบาล ที่ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มากนัก เพราะราคายางในประเทศอิงกับราคาตลาดโลก แต่รัฐบาลก็พยายามออกนโยบายช่วยเหลือ ล่าสุดโครงการประกันรายได้ยางพาราปีที่ 4 ที่มีแผนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์

 

นายชูวิทย์  จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือNER เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยทั้งในไทยและโลกยังเป็นช่วงขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ คาดดอกเบี้ยยังไม่ลดลงมาแน่ ๆ ในระยะสั้น

2 บิ๊กยาง มองต่างมุม \"แก้ราคาตก\" ขอรัฐ 4 หมื่นล้าน ให้เอกชนซื้อเก็บ

 

ในส่วนของยางพาราเวลานี้เป็นช่วงที่ซัพพลายในประเทศออกมามาก โรงงานส่วนใหญ่มีสินค้าเต็มโกดัง แทบไม่มีที่จะวางของกันแล้ว ทั้งนี้การรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ควรทำในรูปแบบเดิม (รัฐซื้อยางเข้าเก็บสต๊อกเพื่อลดซัพพลายในตลาด และเปิดประมูลขายภายหลัง) ที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง และขายขาดทุน และทำให้มีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

 

2 บิ๊กยาง มองต่างมุม \"แก้ราคาตก\" ขอรัฐ 4 หมื่นล้าน ให้เอกชนซื้อเก็บ

 

ทั้งนี้แนวทางใหม่ รัฐควรสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ภาคเอกชนซื้อยางเก็บสต๊อกเอง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ารัฐบาลทำ โดยจากผลผลิตยางพาราที่จะออกมาในช่วงนับจากนี้ประมาณ 3 ล้านตัน ต้องดึงซัพพลายเข้าเก็บ 30% หรือประมาณ 1 ล้านตันจะทำให้ราคาดีขึ้นได้ คาดจะใช้เงินเพื่อการนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

 

“เรื่องนี้แนะให้ทำเป็นเฟส 1 และ เฟส 2  และประเมินเป็นระยะๆ ว่าราคายางกระเตื้องขึ้นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครเสียหาย รัฐบาลแค่อุดหนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ และไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการแบกสต๊อกยางเหมือนในอดีต”

 

 

 

วรเทพ วงศาสุทธิกุล

 

ขณะที่ นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานแปรรูปยางส่วนใหญ่ไม่กล้าซื้อยางเก็บสต๊อก  ยกตัวอย่าง น้ำยางข้น คู่ค้าก็ไม่มีเซ็นสัญญา หรือสั่งซื้อระยะยาว เนื่องจากแต่ละรายไม่รู้อนาคตว่าจะขายของได้หรือไม่ ช่วง 2 ปีหลังโควิดคลี่คลายในส่วนของถุงมือยางก็ผลิตโอเวอร์ซัพพลาย สินค้าส่วนใหญ่เวลานี้อยู่ในมือผู้ซื้อยังขายไม่หมด ถุงมือยางที่ผลิตแล้วและยังมีอยู่ในสต๊อก ก็ยังไม่รู้ว่าจะขายหมดหรือไม่

 

2 บิ๊กยาง มองต่างมุม \"แก้ราคาตก\" ขอรัฐ 4 หมื่นล้าน ให้เอกชนซื้อเก็บ

 

“ตอนนี้ฝนตกทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ผลผลิตยางออกมาน้อยมาก แต่ราคาไม่ขึ้น เพราะไม่มีความต้องการเข้ามา โรงงานก็ไม่กล้าซื้อเก็บ เพราะไม่แน่ใจว่าซื้อเก็บแล้วจะขายได้หรือไม่ อย่างโรงงานถุงมือยาง ก็ลดกำลังการผลิตเหลือ 20-30% แล้วจะให้รัฐบาลมากระตุ้นอย่างไร ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดดีกว่า”

 

 

ราคายางเฉลี่ยเดือนพฤศจิกายน ย้อนหลัง 5 ปี

 

สำหรับราคายางในขณะนี้ ยางแท่ง ยังเฉลี่ย 37-38 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ยางแผ่นรมควัน/ยางแผ่นดิบ อยู่ที่ 45-46 บาทต่อ กก. ยังไม่ใช่ 3 กิโลฯ 100 บาท สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายมาก หากรัฐบาลยังคงจ่ายประกันราคาอยู่ชาวสวนก็ไม่ได้เดือดร้อน แต่วันนี้ส่วนต่างชดเชยประกันราคายางพาราเกือบ 20 บาทต่อ กก. รัฐบาลจ่ายไหวหรือไม่

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,840 วันที่ 1-3 ธันวาคม พ.ศ. 2565