สถานการณ์ส่งออกไทยปี 2565 ที่ดีมาตลอด 9 เดือนแรก ก่อนจะสะดุดลงในเดือนตุลาคม ที่มูลค่าส่งออกขยายตัวลดลง 4.4% หรือติดลบครั้งแรกรอบ 20 เดือน จากผลกระทบภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกตามราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลผู้บริโภคมีค่าครองชีพสูงขึ้น กำลังซื้อลดลง กระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจและการค้าโลกหดตัวลง หลายสินค้าของไทยถูกชะลอการรับมอบ และชะลอคำสั่งซื้อใหม่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และจะส่งผลถึงการขยายตัวในปีหน้า เช่น ยางพารา สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เบื้องต้นทาง สรท.คาดการส่งออกไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ที่ 2-3% จากปี 2565 คาดจะขยายตัวได้ 7-8% ล่าสุดทาง สรท.ได้มีการหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรม และสมาคมการค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ถึงคาดการณ์การส่งออกไทยรายสินค้าในปี 2566 โดยส่วนใหญ่คาดจะส่งออกได้ในระดับใกล้เคียงกับปี 2565 หรือไม่ขยายตัว และในสินค้าส่งออกสำคัญบางกลุ่มยังขยายตัว แต่ในอัตราที่ลดลงจากปีนี้
ตัวอย่าง สินค้าข้าวในปี 2566 คาดจะมีมูลค่าส่งออกประมาณ 3,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2565 ที่คาดมีมูลค่าส่งออก 3,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่ขยายตัว รวมถึงสินค้ายางพารา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่คาดจะส่งออกได้ในระดับใกล้เคียงกับปี 2565 หรือ 0% (ดูกราฟิกประกอบ)
ส่วนสินค้าที่คาดจะยังขยายตัวในปี 2566 แต่ในอัตราที่ลดลงจากปี 2565 อาทิ หมวดสินค้าอาหารในภาพรวม คาดจะขยายตัวได้ 5% จากปี 2565 คาดขยายตัว 10%, น้ำตาล คาดขยายตัว 15% จากปี 2565 คาดขยายตัว 100%, ยานยนต์และส่วนประกอบ คาดขยายตัวได้ 3% จากปี 2565 คาดขยายตัว 2%, เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดขยายตัว 3% จากปี 2565 คาดขยายตัว 7%, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดขยายตัวได้ 5% จากปี 2565 คาดขยายตัว 8% เป็นต้น
“ในสินค้าข้าวปีหน้า ที่คาดจะส่งออกได้ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ ปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวของอินเดียคู่แข่งสำคัญยังมีความได้เปรียบจากการสนับสนุนของรัฐบาล ทำให้ขายข้าวได้ในราคาต่ำ ขณะเงินบาทอ่อนค่าที่ทำให้ข้าวไทยราคาไม่ห่างจากคู่แข่งขันมาก เวลานี้ความได้เปรียบหายไปจากค่าเงินของประเทศอื่นก็อ่อนค่า และเงินบาทไทยเริ่มแข็งค่าขึ้น ยางพาราตลาดใหญ่คือจีนชะลอนำเข้า จากการขาดแคลนชิป และนโยบาย Zero COVID ทำให้การผลิตรถยนต์และการใช้ล้อยางลดลง ส่วนสินค้ารถยนต์คาดการส่งออกจะยังขยายตัวจากสถานการณ์การขาดแคลนชิปปรับตัวดีขึ้น จะทำให้ยอดการผลิตและส่งออกขยายตัวดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามสถานกาณ์ส่งมอบชิปอย่างใกล้ชิดต่อไป”
นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยในปี 2566 คาดจะอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือไม่โตจากปีนี้ เป็นผลจากราคายางพาราส่งออกในปีหน้าเทียบกับปีนี้โดยเฉพาะในไตรมาสแรกจะปรับตัวลดลง และจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่นำเข้ายางพาราจากไทยเศรษฐกิจในปีนี้ได้ชะลอตัวลง จากผลกระทบนโยบาย Zero COVID และยังต้องลุ้นว่าจากที่จีนเริ่มผ่อนคลายหรือผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มโควิด จะทำให้ภาคการผลิตและเศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นมากน้อยเพียงใดในปี 2566 ดังนั้นในเบื้องต้นจึงคาดการณ์มูลค่าส่งออกยางพาราไทยในปีหน้าจะโต 0%
ขณะที่ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปี 2566 คาดการส่งออกข้าวไทยเชิงปริมาณจะทำได้ที่ 8 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2565 ที่คาดจะได้ 8 ล้านตัน(ต้นปีคาดการณ์ไว้ที่ 7 ล้านตัน กลางปีขยับเป็น 7.5 ล้านตัน และไตรมาส 4 ขยับเป็น 8 ล้านตัน) แต่ในแง่มูลค่าการส่งออกข้าวปีหน้ายังต้องลุ้นยาว ๆ ว่าจะทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นอย่างไร ทั้งนี้ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน และการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งขันส่งออกข้าวอื่น ๆ
“ส่งออกข้าวไทยปีหน้าถือว่าเรายังมีโอกาส จากที่บาทอ่อนค่า แม้จะแข็งค่าขึ้นมาระดับหนึ่งในเวลานี้ แต่ยังพอแข่งขันด้านราคาได้ รวมถึงดีมานด์ของหลายตลาดยังมีต่อเนื่อง เช่น อิรักที่กลับมาซื้อข้าวไทย โดย 10 เดือนแรกปีนี้ซื้อไปแล้ว 1.3 ล้านตัน คาดปีหน้ายังซื้อต่อเนื่อง ญี่ปุ่นที่หันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้นจากเดิมนำเข้าหลักจากสหรัฐฯ แต่เวลานี้สหรัฐฯ เจอภัยแล้ง ราคาข้าวเมล็ดสั้นแพงมากขึ้นไปถึงตันละ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอินโดนีเซียก็เริ่มมาซื้อข้าวไทย จากเดิมประกาศไม่นำเข้าข้าว ปีนี้เขาซื้อข้าวไทยไปแล้วกว่าแสนตัน และซื้อจากประเทศอื่น 3 แสนตัน ปีหน้าคาดอินโดฯจะนำเข้าข้าวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ส่วนหนึ่งไทยจะได้อานิสงส์” นายชูเกียรติ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์ส่งออกในภาพรวมของไทยที่คาดจะชะลอตัวลงในปีหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบหลักจากภาวะเงินเฟ้อ กำลังซื้อ ที่ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกปรับตัวลดลง คาดในสัปดาห์หน้า หรือต้นเดือนมกราคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเรียกประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อจัดทำแผนเชิงรุกในการผลักดันการส่งออกปี 2566 และคาดจะมีการประกาศเป้าหมายการส่งออกปี 2566 ของกระทรวงพาณิชย์ในเร็ว ๆ นี้ จากที่ภาคเอกชนคาดการส่งออกปีหน้าจะขยายตัวได้ระหว่าง 1-3%
ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการประชุม กรอ.พาณิชย์แล้วในเบื้องต้น โดยนายจุรินทร์ได้เชิญผู้บริหารภาคเอกชนจาก 5 สถาบันที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อตั้งวอร์รูมประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อพยุงการส่งออกปี 2566 ที่เห็นสัญญาณตลาดหลัก หรือตลาดเดิม ทั้งสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป(อียู) มีแนวโน้มลดลง
เบื้องต้นจะเน้นการรักษาตลาดเดิม และรุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการรองรับสินค้าไทย เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV โดย 3 ตลาดใหญ่นี้ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2566 เพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท จากปี 2565 คาดมียอดส่งออกรวม 1.7 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในการประชุม กรอ.พาณิชย์ครั้งหน้า กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนจะมีการประเมินทิศทางแนวโน้ม การกำหนดเป้าหมายการส่งออกรายตลาด รายสินค้า และการนำเสนอแผนส่งออกเชิงรุกในแต่ละภูมิภาค และรายสินค้า ตลอดจนแผนงาน /กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องร่วมกัน
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3846 วันที่ 22 -24 ธันวาคม พ.ศ. 2565