นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) โดยมีผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนผู้ค้า ผู้เลี้ยงไก่ไข่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ และผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS) ปี 2566 ได้แก่ ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) จำนวน 3,870 ตัว และไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 440,000 ตัว โดยมีแนวทางการจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ จำนวน 16 บริษัท โดยใช้โควตาเท่าเดิม (เท่ากับ ปี 2565) และให้เปลี่ยนชื่อ“บริษัท เอเป็กซ์ บรีดเดอร์สฟาร์ม จำกัด” เป็น “บริษัท ซัน บรีดเดอร์ส จำกัด”
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน โดยการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ปี 2565 มีแผนการเลี้ยง จำนวน 3,800 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 3,730 ตัว (98.16 %) (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธ.ค. 65 โดยกองสารวัตรและกักกัน/บมจ.ซีพีเอฟ) การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2565 มีแผนการเลี้ยง จำนวน 440,000 ตัว นำเข้าเลี้ยงแล้ว 395,715 ตัว (89.94 %) (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธ.ค. 65
โดยกองสารวัตรและกักกัน/บมจ.ซีพีเอฟ) จำนวนไก่ไข่ยืนกรงปัจจุบัน 52.03 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.19 ล้านฟองต่อวัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 65) การส่งออกไข่ไก่สด ปี 2565 (ม.ค.- ต.ค.) จำนวน 213.80 ล้านฟอง มูลค่า 829.58 ล้านบาท ปริมาณลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 2.25
ในขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.84 โดยมีตลาดหลัก คือ สิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 45 รองลงมา คือ ฮ่องกง ร้อยละ 37 (ข้อมูลกรมศุลกากร) ราคา (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค. 65) ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ฟองละ 3.40 บาท (ข้อมูลโดยกรมการค้าภายใน) ลูกไก่ไข่ตัวละ 28 บาท ไก่ไข่รุ่นตัวละ 170 บาท (ข้อมูลโดยบมจ.ซีพีเอฟ) ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาส 3/65 เฉลี่ยฟองละ 3.40 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/65 ร้อยละ 7.94
เนื่องจากค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ ค่าวัคซีนและยาป้องกันโรค ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาส 4/65 เฉลี่ยฟองละ 3.47 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุน ไตรมาส 3/65 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06 เนื่องจากค่าแรงงาน ค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ ค่าวัคซีนและยาป้องกันโรค ค่าน้ำ ค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น (ข้อมูลโดยคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่)
การดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของกรมปศุสัตว์ ได้มีการประชุมหารือเพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ภายในประเทศ โดยได้เชิญผู้แทนจาก 4 สมาคมไก่ไข่ 4 สหกรณ์ไก่ไข่ ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ 16 บริษัท และผู้แทนจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 1 - 9 พิจารณากำหนดมาตรการร่วมกัน ซึ่งในปี 2565 ได้มีการประชุมไปแล้ว จำนวน 6 ครั้ง และกำหนดมาตรการในปัจจุบัน คือ
1. มาตรการขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืนกรง ปลดไก่ไข่ตามอายุที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย ปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ที่ไม่ใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัว ขึ้นไป ปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565
2. มาตรการขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์ (PS) และผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ รวมจำนวน 17 ราย เก็บรวบรวมไข่ไก่เพื่อการส่งออกและปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด เพื่อชดเชยปริมาณการส่งออก ในเดือนธันวาคม 2565 เป้าหมาย 59.30 ล้านฟอง โดยผลการดำเนินงาน (ณ วันที่ 20 ธ.ค. 65) มีการเก็บรวบรวมไข่ไก่เพื่อการส่งออก จำนวน 27,688,980 ฟอง ปลดไก่ไข่ก่อนกำหนด จำนวน 572,129 ตัว (เทียบเท่าส่งออกไข่ไก่ 13,915,775 ฟอง) รวมดำเนินการแล้ว 41,604,755 ฟอง คิดเป็น 70.15 % จากเป้าหมาย 3) มาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการเพื่อเร่งการปลดระวางไก่ยืนกรง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ เพื่อเร่งการปลดระวางไก่ยืนกรง
โดยจ่ายเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการสำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ปลดระวางไก่ไข่มีชีวิต ที่อายุในขณะจับอยู่ที่ระหว่าง 65 ถึง 75 สัปดาห์ ในอัตรา 10 บาทต่อตัว กรอบการดำเนินการสนับสนุนค่าบริหารจัดการรวมไม่เกิน 1,000,000 ตัว รวมวงเงินไม่เกิน 10,000,000 บาท จ่ายเงินสนับสนุนสำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ปลดระวางไก่ไข่มีชีวิต ในระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2565 ผลการดำเนินงาน มีผู้ขอรับการสนับสนุนแล้ว 5 ราย ปลดไก่ไข่ยืนกรง จำนวน 196,522 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธ.ค. 65)
สำหรับสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ปัจจุบันราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ปัจจัยหลักจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และภัยแล้งจากประเทศปลูกหลัก เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา และการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ทำให้ราคาวัตถุดิบจะปรับสูงต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกของปี 2566