ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 กงศุลกานาประจำประเทศไทย เข้าพบ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เพื่อหารือความร่วมมือในการทำโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model โดยประเทศกานามีภูมิประเทศและสภาพอากาศที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวอยู่บ้างแต่เป็นพันธ์ุพื้นเมืองผลผลิตต่ำและยังไม่มีคุณภาพ
ที่ผ่านมาทางประเทศกานาเห็น โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model ของประเทศไทย ตามแนวทางการปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืนของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เห็นผลเชิงประจักษ์ในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพข้าวและจำนวน เกษตรกร ไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีปุ๋ยเคมี
โดยหันมาใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตร ทำให้เป็นการทำเกษตรแบบปลอดภัยที่ทำให้ได้ผลผลิตปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทางประเทศกานาจึงมีความสนใจในการนำ “โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model” ไปประยุกต์ใช้ในประเทศกานา
ล่าสุด ดร.ภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ปัจจุบันทางประเทศกานา ทำการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก (ปรเทศกานา) เป็นที่เรียบร้อยเพื่อที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ต่อไปในประเทศกานาและขยายไปต่อในทวีปแอฟริกาต่อไป นับว่าเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ประตูสู่การค้าขาย
“หากประเทศไทยไม่เข้ามาในวันนี้ ประเทศเวียดนาม และประเทศอินเดีย เตรียมพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกข้าวให้กับประเทศกานาเช่นกัน ดังนั้นหากประเทศไทยไม่เข้ามาไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเราจะเสียโอกาสอีกมากมายที่เป็นความร่วมมือทางด้านอื่นๆที่จะเกิดขึ้นมาภายหลังต่อไป และเป็นที่ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศกานาเลือกประเทศไทย”
ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศสภาพแวดล้อมประเทศกานาเหมือนเมืองไทยมีดินดีน้ำดีแต่ทำการเกษตรไม่ค่อยเป็นเท่าไรนักขาดเมล็ดพันธุ์ ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พืชผลที่ปลูกมีกล้วย โก้โก้ และเริ่มจะปลูกข้าวเป็นพันธุ์พื้นเมืองแอฟริกา และหอมมะลิ 85 ซึ่งไม่ทราบว่าสายพันธุ์มาจากไหน
"เนื่องจากเพิ่งเริ่มทำนา ไม่เข้าใจวิธีการทำนา จึงทำแบบไม่รู้เท่าไรนักผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำและคุณภาพไม่ดีเท่าไรนัก โดยที่ผ่านมาประเทศกานานำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงพืชผลทางการเกษตรอีกหลายอย่างมากที่นำเข้าเพื่อบริโภคภายในประเทศ"
ดร.ภณ กล่าวว่า รัฐบาลประเทศกานามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการที่ไทยจะเข้ามาช่วยเหลือทางด้านการเพาะปลูกข้าวให้กับประเทศกานา รวมถึงความรวมมือในด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อไปภายหลังซึ่งทางกานาพร้อมที่จะให้การสนับสนุนประเทศไทยในทุกๆด้านที่สามารถดำเนินการได้ อาทิเช่น แหล่งน้ำมันปัจจุบันมีการพบและขุดเจาะน้ำมันในทะเลกานาและยังมีอีกหลายหลุมที่จะไม่ได้เริ่มดำเนินการก็จะเป็นโอกาสดีของ ปตท.สผ ที่จะเข้ามาสัมปทานหรือดำเนินการ ทางด้านพลังงาน
ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากเขื่อนจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน กำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานและการขยายทางธุรกิจหรือรองรับการเติบโตของประเทศ ที่เห็นยังขาด Solar Farm ซึ่งทางรัฐบาลกานาให้ความสนใจในเรื่องนี้ และยังมีอีกหลายด้านที่เป็นโอกาสทางการค้าของประเทศไทย อีกทั้งประเทศกานาจะเป็นประตูทางการค้าสู่ประเทศต่างๆในแอฟริกาต่อไปให้กับประเทศไทย