“ข้าว” เป็นพืชที่มีความสำคัญกับสังคมไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การทำนาเป็นอาชีพเกษตรกรรมส่วนใหญ่ของประชากรในประเทศ ประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน สามารถผลิตข้าวได้ปีละกว่า 30 ล้านตันข้าวเปลือก ดังนั้น อาชีพชาวนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าข้าวคุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
แต่ผลผลิตเฉลี่ยข้าว ยังมีผลผลิตต่อไร่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 353 กิโลกรัมต่อไร่ สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้เองหลายรอบซึ่งมีคุณภาพต่ำ การที่จะปลูกข้าวให้ได้ผลดีมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เมล็ดพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชและได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด
วันที่ 9 ธันวาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว นำทีมผู้บริการกรมการข้าวและคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธ์ข้าว ปี 2566 เป็นแผนการดำเนินงานโครงการนี้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งในปีแรก มีเป้าหมายการดำเนินการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จำนวน 58,700 ตัน จะเป็นการส่งเสริมให้ชาวนาสามารถเข้าถึงและได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจากกรมการข้าวทั่วประเทศ
โดยเกษตรกร สามารถเข้าร่วมโครงการโดยผ่านกลุ่มเกษตร และสถาบันเกษตรกร เช่น ศูนย์ข้าวชุมชนในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ในราคาตามหลักเกณฑ์ของกรมการข้าวที่ได้กำหนดไว้ เพื่อให้ชาวนาได้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีสำหรับการเพาะปลูก และขยายพันธุ์ ซึ่งในปีนี้ที่กรมการข้าวได้จัดให้มีทั้งหมด 20 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่ม ข้าวหอมมะลิ จำนวน 3 หมื่นตัน และ,ข้าวข้าวเจ้าพื้นแข็ง ,ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม,ข้าวเหนียว และข้าวหอมไทย รวม 5.8 หมื่นตัน
กรมการข้าวได้มุ่งเน้นส่งเสริมให้ชาวนาสามารถเข้าถึง และได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจากกรมการข้าวทั่วประเทศ โดยเกษตรกร สามารถเข้าร่วมโครงการได้ผ่านกลุ่มเกษตร และสถาบันเกษตรกร เช่น ศูนย์ข้าวชุมชนในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ในราคาตามหลักเกณฑ์ของกรมการข้าวที่ได้กำหนดไว้ เพื่อให้ชาวนาได้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีสำหรับการเพาะปลูก และขยายพันธุ์
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า ในส่วนของเกษตรกรที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการในปีนี้ กรมการข้าวมีแผนการดำเนินงานโครงการนี้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรจะได้รับประโยชน์สูงสุด