โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (Bio-Circular-Green Model) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ตามโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ ที่มุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จากนโยบายดังกล่าวได้มาแปลงสู่การปฏิบัติงานโดยกรมการข้าว
ในช่วงการปรับตัว กรมการข้าวมีแนวทางในการจัดทำโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model ในโครงการนำร่องระยะที่ 1 เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลผลิตปลอดภัยต่อผู้บริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก นำมาซึ่งรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดกรมการข้าวได้จัดทำรายละเอียดของแผนเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขอรับการสนับสนุนงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2566 เพื่อใช้ใน “โครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก” วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ที่อยู่ในกลุ่มของศูนย์ข้าวชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวจำนวน 2,000 ศูนย์ ซึ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความพร้อมในการดำเนินงาน ในพื้นที่ 74 จังหวัด ดำเนินการศูนย์ละ 200 ไร่ เพื่อดำเนินการปลูกข้าวรักษ์โลก ซึ่งมีรูปแบบการเกษตรแบบปลอดภัย
รูปแบบคือ ไม่มีการเผาฟาง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าว มีการจัดการศัตรูข้าวด้วยการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรและสารชีวภัณฑ์ นอกจากนี้ มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรและเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ลดความเสียหายจากศัตรูพืช หรือกิจกรรมการทำนา และเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าวคุณภาพดี นำไปสู่การเพิ่มผลกำไร ผลผลิตปลอดสารพิษ ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้
เป้าหมายของโครงการนี้ จะทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 (ฐานในการคำนวณค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี จำนวน 450 กิโลกรัมต่อไร่) สามารถผลักดันให้มีพื้นที่ปลูกข้าวปลอดภัยเพิ่มขึ้น 4 แสนไร่ มีผลผลิตข้าวปลอดภัยเพิ่มขึ้น 800 กิโลกรัม (กก.)ต่อไร่ ได้ผลผลิตข้าวปลอดภัย 3.2 แสนตัน ขายได้ราคาตันละ 1.2 หมื่นบาท คิดเป็นเงินรวม 3,840 ล้านบาทต่อฤดูการปลูก สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันข้าวคุณภาพในตลาดโลก จากแหล่งผลิตข้าวมาตรฐานข้าวยั่งยืน เป็นการจัดการแบบข้าวรักษ์โลกตาม BCG Model โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน ตั้งแต่ม.ค.- ก.ย. 2566
แหล่งข่าวกรมการข้าว เผยว่า โครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลกตาม BCG Model จากเดิมชาวนามีต้นทุนการผลิต 4,177 บาทต่อไร่ จะลดลงเหลือ 2,645 บาทต่อไร่ จะทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง 1,532 บาทต่อไร่ ยกตัวอย่างในโครงการพื้นที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร หรือขาณุโมเดล มีการปลูกข้าวพันธุ์ กข79 ได้ผลผลิตประมาณ 1,000 กก.ต่อไร่
มีต้นทุนการผลิตประมาณ 2,645 บาทต่อไร่ มีผลกำไรประมาณ 5,355 บาทต่อไร่ และการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรและเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยลดต้นทุนและลดแรงงาน เช่นการใช้โดรนในการหว่านปุ๋ยทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้แรงงานคน และช่วยประหยัดเวลา โดยใช้แรงงานคนในการควบคุมเพียง 1-2 คน
ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ชาวนาได้ประโยชน์น้อย เพราะทำไม่กี่กลุ่ม และทำเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ หากเกษตรกรไม่เอาด้วย ระวังจะตกม้าตาย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,851 วันที่ 8-11 มกราคม พ.ศ. 2566