นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้รับรายงานจากสมาชิก เรื่องการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องการปรับปรุงมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ และสัตว์เลี้ยงตัวอ่อนในบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ผ่านมานั้น
มี 2 ข้อด้วย ได้แก่ 1. เรื่องการขยายระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่เป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม ของทุกปี เพิ่มขึ้น 14 วัน ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฏร์ธานี และ 2. รับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุม กรณีห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือชนิดอวนติดตาปลา ยกเว้นอวนติดตาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป ให้ทำการประมงได้ โดยจำกัดความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ทั้งในเขตทะเลชายฝั่งและนอกเขตทะเลชายฝั่ง
นายมงคล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงประกาศการปิดอ่าวฤดูปลาวางไข่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของชาวประมงแค่จังหวัดที่ปิดอ่าวนั้น ไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพราะการเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบกับพี่น้องชาวประมงโดยตรง ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ
รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนและนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน จะต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงเป็นระบบ จะต้องมีขั้นตอนและระยะเวลาที่จะต้องแจ้งให้ชาวประมงทั่วไปได้รับรู้รับทราบอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่ใช่ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงแค่ 3 จังหวัด (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี) แล้วจะมาประกาศบังคับใช้ทันที นั้นไม่น่าจะถูกต้อง
ทั้งนี้การปิดอ่าวไม่ใช่มีแค่ชาวประมง 3 จังหวัด เท่านั้นที่ทำการประมงในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว แต่มีชาวประมงในหลายๆ จังหวัดทำการประมงอยู่ หากมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ "ปิดอ่าวฤดูปลาวางไข่" อาจทำให้ชาวประมงที่ไปกับเรือประมงเอง และไม่ได้รับรู้รับทราบการเปลี่ยนแปลงวันที่ดังกล่าว จะทำให้ชาวประมงทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวซึ่งมีโทษปรับที่รุนแรงมาก สูงสุด ปรับ 30 ล้านบาท และอาจจะโดนเพิกถอนใบอนุญาตประมง
ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงฝั่งอ่าวไทยทุกจังหวัด เพราะชาวประมงทั่วไปที่ออกทำการประมงเองคุ้นเคยกับวันที่ที่กำหนดการปิดอ่าวในช่วงระยะเวลาเดิมอยู่นานมากแล้ว หากมีการปรับเปลี่ยนระยะเวลา โดยยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงจะทำให้เกิดความผิดพลาด เสียหายร้ายแรงกับชาวประมง ดังนั้นกรมประมงจะต้องสร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจกับชาวประมงเสียก่อนไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมามากมาย
ในการนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จึงใคร่ขอเรียนมายังท่าน เพื่อขอคัดค้านการปรับปรุงมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อนในบริเวณอ่าวไทยตอนกลางและขอให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 โดยขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงประกาศดังกล่าว หรือหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ขอเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน ของทุกปี และถ้าจะเปลี่ยนแปลงขอให้เริ่มปี 2567 เพื่อให้ชาวประมงได้รับทราบอย่างทั่วถึงก่อน