“เฉลิมชัย” ดันเกษตรทฤษฎีใหม่-ส่งเสริมท่องเที่ยวราชบุรี

15 ม.ค. 2566 | 06:33 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2566 | 13:45 น.

“เฉลิมชัย” เปิดกิจกรรมและเที่ยวชมงาน “กินลั่นทุ่ง” บ้านโป่ง ราชบุรี สร้างการเรียนรู้เศรษฐกิจพพอเพียง-เกษตรทฤษฎีใหม่ตามรอยในหลวง ร.9 พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงาน (15 ม.ค. 2566) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมเปิดกิจกรรมและเที่ยวชมงาน กินลั่นทุ่ง ครั้งที่ 1 ณ สวนหลังบ้านราชบุรี ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

 

สำหรับศูนย์การเรียนรู้ "สวนหลังบ้าน" แห่งนี้ ตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินรอยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสานให้กับบุคคลในชุมชน โรงเรียน องค์กร และหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่ต้องการเรียนรู้

 

บรรยากาศภายในงาน

 

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีชุมชน เพื่อส่งเสริมการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน รวมถึงการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและการละเล่นพื้นบ้านของไทยไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชุมชน

 

“เฉลิมชัย” ดันเกษตรทฤษฎีใหม่-ส่งเสริมท่องเที่ยวราชบุรี

 

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา เป็นหนึ่งในยุทธศาตร์สำคัญที่จะสร้างรากฐานและความมั่นคงให้เกษตรกรไทย จากการที่ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 

“เฉลิมชัย” ดันเกษตรทฤษฎีใหม่-ส่งเสริมท่องเที่ยวราชบุรี

 

ทั้งนี้ได้มอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปช่วยในการสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับ เพิ่มมูลค่า และพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค เชื่อว่าศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป

 

“เฉลิมชัย” ดันเกษตรทฤษฎีใหม่-ส่งเสริมท่องเที่ยวราชบุรี

 

รายงานข่าวเผยถึงความก้าวหน้าด้านการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดราชบุรี (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ม.ค. 66) มีวิสาหกิจชุมชนที่อนุมัติการจดทะเบียนแล้ว 511 แห่ง สมาชิก 8,245 ราย มีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่อนุมัติการจดทะเบียนแล้ว 3 แห่ง สมาชิก 23 ราย จำแนกตามประเภทกิจการ เรียงลำดับมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ การผลิตพืช วิสาหกิจชุมชน 214 แห่ง (สัดส่วน27.94%) การแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหาร วิสาหกิจชุมชน 193 แห่ง (25.20%) และการผลิตปศุสัตว์ วิสาหกิจชุมชน 71 แห่ง (9.27%)