นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ทุเรียนในภาคตะวันออก ปี 2566 คู่แข่งจะเป็นเวียดนาม โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ทุเรียนของภาคตะวันออก จะไปชนกับทุเรียนของเวียดนาม จะยาวไปเรื่อย จนถึงช่วงทุเรียนใต้ เมื่อเปรียบเทียบในฤดูกาลที่ผ่านมาเราก็จะเจอสถานการณ์แบบนี้
แต่ปีนี้ทุเรียนคาดว่าจะมีผลผลิตมาก มีดอกติดอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ หากไม่มีภัยธรรมชาติ เดือนมิถุนายน ทุเรียนชุดใหญ่ออก (เดือน เม.ย.มีทุเรียนออกแล้ว แต่ยังไม่ได้ชุดใหญ่) แล้วถ้ารุ่นนี้ออกมาเยอะก็จะเจอคู่แข่งอย่างเวียดนามที่แข่งกับเราอยู่ในตลาดจีน ในเรื่องคุณภาพและการขนส่ง เวียดนามมีระยะทางที่ใกล้กว่า และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็ถูกกว่าเรา ถ้าเงื่อนไขการเข่งขันทุเรียนไทยกับเวียดนามก็คงจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย
ต่อมาก็คือ “ภาษีนำเข้าจีน” เวียดนามก็ถูกกว่าประเทศไทย ที่ผ่านมาก็ถูกกว่า 1 ตู้คอนเทนเนอร์ หลายหมื่นบาท และเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ ก็คือระยะทางการขนส่ง และเรื่องตัดทุเรียน ในระยะทางที่ใกล้กว่าก็น่าที่จะตัดทุเรียนแก่ได้มากกว่าไทย และของไทยหากไม่ได้รับการแก้ไข หากเดือนที่เราชนกับเวียดนาม ไม่ปรับปรุงในเรื่องคุณภาพของทุเรียนในการส่งออกน่าจะเหนื่อย
ประเด็นก็คือทุเรียนเยอะไม่ใช่ปัญหา ปัญหาก็คือคุณภาพที่จะต้องแข่งกับคู่แข่งได้หรือไม่ นี่คือเรื่องใหญ่ ต่อมาก็เรื่องขนส่ง ส่วนเรื่อง "โควิด-19" ไม่พูดถึงแล้ว เพราะไม่มีปัญหาเรื่อง "โควิด-19" แต่ปีนี้อาจจะมาเจอในเรื่องค่าขนส่งการออกมากระจุกตัวในเดือนพฤษภาคม เราก็น่าจะเจอในเรื่องขนส่ง เพราะว่าเป็นวัฏจักรธรรมชาติจากผลผลิตออกมาเป็น 5 ส่วนแยกออกจาก 1 ส่วน ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในการเตรียมการ เรื่องรถและเรื่องเรือ อย่างไรก็ไม่ทัน
ที่ฟังมาคาดว่าเรือขนส่งจะเยอะ เพราะปีที่แล้วพวกบริษัทเรือมีรายได้จากการบรรทุกทุเรียนไปมีกำไรมหาศาลก็เลยคิดว่าในปีนี้จะมีการเพิ่มจำนวนเรือเข้ามาหลายสาย แต่คำถามก็คือว่า ถ้ารวมตัวกันบีบ อย่างไรก็แก้ไม่ได้ในเรื่องของราคา ปีที่แล้วราคา จาก 2,500 -3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ ปรับขึ้นไป 8,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ ปรับขึ้นไป 2-3 เท่า
สำหรับในปีนี้ก็มาดูในเรื่องของขนส่งรถไฟ กำลังอยู่ในช่วงการเจรจา เราก็มีปัญหา ในเรื่องของค่าใช้จ่ายจากไทยผ่านแดนลาว มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากเจรจาสำเร็จก็น่าที่จะช่วยได้เยอะ ที่ผ่านมาเราเสียเงินตู้หนึ่งประมาณกว่า 3 หมื่นบาท หากปรับลดลงมาได้สัก 1 หมื่นบาท ได้ ก็จะทำให้มีผู้ใช้รถไฟเยอะขึ้น เพราะรถไฟเปิดแล้ว วิ่งตรงไปที่เมืองคุนหมิง แต่คำถามทำไมทุกคนไม่ไปใช้บริการก็เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก วันนี้วิ่งได้ กับไม่วิ่ง ก็เท่ากัน กับไม่ได้ใช้ เพราะไม่คุ้ม ก็ไม่ได้ใช้ ดังนั้นในเรื่องขนส่งก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญว่าเราจะจัดการอย่างไร
“ผลผลิตปีนี้มากขึ้น คู่แข่งก็ชัดเจนขึ้น และปริมาณคู่แข่งก็ไม่ได้น้อย คิดว่าปีนี้ไทยอาจจะเจอปัญหาบ้าง ราคาทุเรียนในตลาดกับต้นทุนยังทิ้งกันอยู่ ประมาณ กว่า 100% หากปรับลดราคาลงมาชาวสวนก็ยังรวยกันอยู่ เพราะฉะนั้นยังไม่ได้ใช้ประเด็นว่าจะน่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือความหนาแน่นในการขนส่ง ท่วมตลาด นี่ละน่ากลัวที่สุด แต่ถ้าราคาลง ขายได้อยู่ ก็ไม่น่าเดือดร้อน แต่กลัวขายไม่ทัน แล้วราคาลง นี่เดือดร้อนแล้ว เพราะจะเกิดการเน่าเสีย ตอนนี้ตลาดก็ยังไปได้อยู่แต่จะอยู่กันได้ไหม เรื่องขนส่ง ขายออกส่งไปทันหรือไม่ ตลาดรับได้ทันหรือไม่”
นายสัญชัย กล่าวว่า ถ้าผลผลิตไปชนกับเวียดนาม ก็เชื่อว่าจะดันผลผลิตของเค้าไปก่อน เราก็ต้องออกช้ากว่า ไปนั่งแช่อยู่หน้าด่าน แต่ก็ขึ้นอยู่ในการจัดการของจีนด้วยว่าปล่อยตู้ได้เร็วหรือช้า ถ้าวันหนึ่งปล่อยตู้ได้ 100 ตู้ แต่มีของออกไป 150 ตู้ รวมกับเวียดนามด้วย นี่คือจะเจอปัญหา แต่ที่ผ่านมายังไม่มีเวียดนามออก รถก็ยังติดเลย แต่ถ้ามีทุเรียนเวียดนามออกมาด้วย ในเมื่อการจราจรติดขัด จะเอาของใครของก่อน เวียดนามก็ต้องเอาของเค้าออกก่อนส่วนการขนส่งเครื่องบิน คงไม่มีใครเอาแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็เสียหายกันเยอะมาก ดังนั้นสรุปแล้วปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้ คือ เรื่องขนส่งและคู่แข่งเวียดนาม
ส่วน “ทุเรียนฟิลิปปินส์” สายพันธุ์ไม่ตรงกับประเทศไทย น่าจะไปในกลุ่มแช่แข็งมากกว่า แล้วก็มีทุเรียนสายพันธุ์อร่อยอยู่ทางภาคใต้เกาะมินดาเนา บริเวณนั้นจะเป็นแหล่งทุเรียนใหญ่ มีสายพันธุ์ที่ดีออกมา เคยไปรับประทานแล้วเหมือนมูซังคิง ราชาแห่งทุเรียนมาเลเซีย แต่ถ้าส่งผลสดยังมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การตัดทุเรียน การควบคุมอุณหภูมิ เพราะในเรื่องขนส่งต้องใช้เวลา นอกจากคนจีนเอาคนไทยไปทำล้งก็คิดว่าน่าจะทำได้เหมือนกัน เชื่อว่าจะเริ่มต้นจากแช่แข็งก่อน แต่ปัจจุบันทุเรียนแช่แข็งจากฟิลิปปินส์ก็มีคนทำแล้วนะ เข้าไปจีนแต่เราก็ต้องดูว่าผลสดหากมีพันธุ์เด็ด คาดว่าจะไปทางเครื่องบิน เข้าไปแข่งตลาดทุเรียนอีกเกรดหนึ่ง
ด้านนายณัฐกฤษฏ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจไทย-จีนเพจ สมาคมทุเรียนไทย เผยผ่านเพจเฟซบุ๊กสมาคมทุเรียนไทย " เจาะตลาดทุเรียน จีนฤดูกาล 2566 “ กล่าวว่า ถึงสถานการณ์ทุเรียนเวียดนาม มองว่าของยังน้อย พื้นที่ปลูกอาจจะเผชิญภัยธรรมชาติเยอะ ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินไม่ได้เป็นไปตามนั้นเลย “เวียดนาม” มีอายุต้นทุเรียนระดับ 20-30 ปีไม่น้อยกว่า แสดงว่าเวียดนามปลูกมาพอสมควรแล้ว และที่ไปมาหลายรอบไปสำรวจพื้นที่ปลูกทุเรียนเหมือนประเทศไทยเลย คือเกือบทุกส่วนของภาคใต้หันมาปลูกทุเรียนหมดแล้ว และในบางพื้นที่ที่ปลูกกาแฟ ก็จะมีการกล่าวขานว่า เสียงเลื่อยยนต์ไม่เคยเงียบ ผมไปมาแล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง เพราะทั้งวันจะมีคนตัดต้นกาแฟมาปลูกทุเรียน แล้วยิ่งข่าวการส่งออกได้เองด้วย เท่าที่คุยกับเจ้าใหญ่ปลูกกันทีหนึ่ง 4,000 -5,000 ไร่ หลายเจ้า และปี 2570 ทุเรียนที่ได้ผลผลิตก็น่าจะเพิ่มอีก 1 เท่าตัวกับปัจจุบัน
“ปี 2563 ทั้งประเทศไทย ส่งออก 35,000 ตู้ ปี 2564 มีทั้งหมด 50,000 ตู้ ส่งไปจีน แล้วก็ปี 2565 ประมาณ 45,000 ตู้ ทำไมยอดน้อยกว่าปี 2564 เพราะที่ภาคใต้ผ่านมาแบ่งเป็น 2 รุ่น ตอนนี้ยังไม่หมด ก็คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2564 ก็คือ 50,000 ตู้ หากมีการคำนวณคร่าว ๆในปี 2570 น่าจะทะลุแสนตู้ นี่คือจำนวนที่เพิ่มขึ้น เพราะในพื้นที่ภาคตะวันออกที่วิ่งดูทุกหย่อมหญ้าน่าจะเป็นทุเรียนหมดแล้ว รวมถึงทุกภาคของประเทศไทย ตอนนี้ถือว่าปลูกกันเยอะมาก เช่นเดียวกับเวียดนามการปลูกไม่น้อยหน้าประเทศไทย”
จากการคำนวณคร่าวๆที่ไปสำรวจพื้นที่คาดเดา เพราะยังไม่ได้เก็บตัวเลขแน่นอน ก็คาดว่าเวียดนามใกล้เคียง 1 หมื่นตู้คอนเทนเนอร์ แต่ทำไมส่งออกได้หรือไม่ได้ เป็นการค้าชายแดน แต่พอมีการส่งออกถูกต้องที่ได้แล้วการตื่นตัวของชาวสวน ล้งเวียดนาม ตื่นเต้นกันมาก ดังนั้นเวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว และได้เปรียบในเรื่องการขนส่ง การค้าชายแดนมีพื้นที่ที่ติดกัน มีเรื่องภาษี มีความได้เปรียบ เพราะการขนส่งที่ใกล้ก็ถือว่าประหยัดค่าใช้จ่าย และการตัด ถือว่าควบคุมคุณภาพได้ดีกว่าประเทศไทย นี่คือสิ่งที่น่ากังวล
ดังนั้นการเตรียมตัว ในส่วนของชาวสวนข้อชี้แนะเบื้องต้น ในเรื่อง GAP เราต้องจบให้ได้ เลิกพูดเรื่องนี้ไปเลย คือต้องพร้อมจะได้หมดปัญหาไป ที่ผ่านมา GAP ไม่พอก็มีปัญหาต่อเนื่องลามมาถึงผู้ประกอบการด้วย ทั้งที่ GAP เป็นจุดนับหนึ่งจากการทำสวนทุเรียน เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ชาวสวนต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการส่งออก ส่วนในเรื่องของคุณภาพ การตัดทุเรียนอ่อน แก่ ในเรื่องนี้ก็ควรจะจบ ถ้ามาสื่อในเรื่องทุเรียนไม่มีคุณภาพจะทำให้ราคาตก
อย่างไรก็ดีไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของปริมาณทุเรียนในการส่งออกไปจีนมากที่สุดในโลก เราขาดอย่างเดียวคือขาดการชูโรงในเรื่องคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซ็นต์แป้ง ความอ่อนแก่ ปีนี้น่าจะดีขึ้น มีการซื้อขายทุเรียนที่จริงจังมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมามีเงินสะพัดเข้ามาทำให้บางคนไม่ได้นึกถึงเรื่องคุณภาพก็เลยทำให้ทุเรียนประเทศไทยเสียหายไปด้วย แต่ในปีนี้เงินที่เข้ามาซื้อทุเรียนจะเป็นเงินที่ซื้อขายผลไม้จริงๆแล้วก็ต้องแข่งขันในเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ
ปิดท้ายด้าน นางสาว Ying ying Wei รองผู้บริหาร บริษัทเดอะลิส อินเตอร์เฟรท จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้ คนจีน ครอบครัวมีเต็มที่ ก็ประมาณ 3-4 คน คงไม่สามารถซื้อทุเรียนขนาด 4-5 กิโลรัมได้ จะเลือกขนาด 2-3 กิโลกรัม นอกจากเทศกาลจะไปหาญาติพี่น้องจะซื้อลูกใหญ่ไปรับประทาน แต่ที่ร้านขายได้ ก็อยู่ที่ขนาด 2-3 กิโลกรัม ที่ขายดี
อนึ่ง ประกาศจังหวัดจันทบุรี เรื่อง ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัดของจังหวัดจันทบุรี
คำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ 288/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจก่อนตัด (ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียนก่อนตัด) ในฤดูกาลผลิต ปี 2566