ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน และประชาชนทั่วไปของไทยเวลานี้ ต้องเผชิญกับ ภาระต้นทุนการผลิต และ ค่าครองชีพ ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ปรับขึ้นเป็น 5.33 บาทต่อหน่วย ขณะที่ราคาน้ำมันและพลังงานยังผันผวน และทรงตัวในระดับสูง
ล่าสุด (25 ม.ค.2566) คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี และคาดจะปรับขึ้นอีกในอนาคตเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และเงินทุนไหลออก ส่งผลกระทบซ้ำเติมภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เพิ่งฟื้นไข้จากโควิดจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและอาจขาดสภาพคล่อง
ขณะภาคการส่งออกของไทยเป็นทิศทางขาลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่เป็นผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลมูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 3 เดือนล่าสุด (ต.ค.-ธ.ค.65) ติดลบ ที่ -4.4%, 6.0% และ 14.6% ตามลำดับ ซึ่งภาคธุรกิจไทยจะตั้งรับและรุกอย่างไรนั้น
บาทแข็งส่งออกอ่วม
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ ”ว่า เงินบาทที่แข็งค่าเป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชียจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนที่สูง ขณะที่ในสินค้าที่นำวัตถุดิบเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกในสัดส่วนที่แตกต่างกันอาจได้อานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่า ทำให้การนำเข้ามีต้นทุนถูกลง แต่ก็จะได้รับผลกระทบในเชิงของการเสนอราคาสินค้าแข่งกับประเทศอื่นที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน
“การแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับภูมิภาค และไม่สอดคล้องกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง เนื่องจากเราแข็งค่ามาก และแข็งค่าเร็วกว่าประเทศอื่น ซึ่งแบงก์ชาติต้องกำกับดูแลให้เสถียรสอดคล้องกับประเทศอื่น และคงต้องไปดูต้นทางให้ชัดเจนว่าเกิดจากการเก็งกำไรหรือไม่ เพราะถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามความสามารถของประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดที่มาจากภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ต้องเป็นบวกอย่างแข็งแรง แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยว เช่นจากจีนที่คาดจะเข้ามาในปีนี้มากกว่า 5 ล้านคนก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงตามเป้าหมายและต้องใช้เวลา และ FDI ก็ยังต้องลุ้นว่าจะมามากน้อยแค่ไหนเพราะฐานผลิตในไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น”
ติวเข้มรุก-รับบริหารความเสี่ยง
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ส่งออกไทยชะลอตัว และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีข้อเสนอคือ การปรับตัวเพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยจับเทรนด์สินค้าและกลุ่มลูกค้าให้ถูก เช่น ให้ความสำคัญกับตลาดที่มีกำลังซื้อ อาทิ กลุ่มตลาดตะวันออกกลาง ขณะที่ในสถานการณ์ที่การค้าผันผวนต้องมีการเตรียมการทางธุรกิจ ทั้งการวางแผนการเงิน การบริหาร การผลิต โดยควรผลิตตามคำสั่งซื้อและทำการผลิตสต๊อกตามสมควร ต้องมองในวงกว้างและมีความยืดหยุ่น และจากที่ค่าเงินผันผวน ควรเสนอราคาขายสินค้าเป็นรายไตรมาส เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
ตัวอย่าง วิธีบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านความผันผวนทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน 3 วิธี ได้แก่
บริหารต้นทุน-ตุนเงินสำรอง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เวลานี้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ที่สำคัญคือจากค่าไฟฟ้างวดล่าสุด(ม.ค.-เม.ย.2566) ที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย (จากงวดก่อนหน้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย)
เทียบกับค่าไฟฟ้าของเวียดนามเวลานี้ถูกกว่าไทยเท่าตัว โดยเปรียบเทียบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ณ ปัจจุบัน เมื่อนำมาคำนวณทำให้ค่าไฟฟ้าของเวียดนามถูกลงจาก 2.88 บาทต่อหน่วย เหลือ 2.50 บาทต่อหน่วย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันดึงการลงทุน FDI ของไทยลดลง จึงขอฝากให้ผู้ที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขให้ค่าไฟฟ้าของไทยถูกลงด้วย
ขณะที่ผู้ประกอบการเองต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย (LEAN) บริหารสต๊อกสินค้าเพื่อลดต้นทุน บริหารความเสี่ยงทางการเงิน มีการสำรองเงินทุนไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ชี้เป้าเจาะตะวันออกกลาง
ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ทิศทางการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 คาดจะส่งออกได้ราว 71,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง หรือติดลบที่ 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และคาดในไตรมาส 2 จะอยู่ในภาวะทรงตัวหรือติดลบเล็กน้อย และจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง คาดทั้งปีนี้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ที่ระดับ 1-2%
นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะเป็นปัจจัยลบแล้ว เงินบาทที่แข็งค่าที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ เป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกไทย เพราะค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง เช่น จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยเฉลี่ยอ่อนค่ากว่าไทย 7-10% ในกลุ่มสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ที่ช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกอยู่ในไตรมาสที่ 2 อาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้ค่าเงินผันผวนที่ต้องติดตามใกล้ชิด
“นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์หลัง จีนเปิดประเทศ การนำเข้าสินค้าจากไทย รวมถึงการเข้ามาลงทุนในไทยในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะเวลานี้ต้นทุนการผลิตในไทยสูงขึ้นทั้งจากค่าแรง ราคาพลังงาน ดอกเบี้ย และยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการส่งออก ดังนั้นต้องปรับตัว เช่น การเจาะตลาดใหม่ ๆ เช่น ตะวันออกกลาง ที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อยังขยายตัว และเขาจะเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอนและถือศีลอดในปลายเดือนมีนาคมนี้ ดังนั้นไทยต้องเร่งผลักดันการส่งออกไปตะวันออกกลางในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมนี้”
รัฐบาลต้องเร่งเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกรอบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทย ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเตรียมเปิดเจรจาเพื่อจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป หรือ อียู (มี 27 ประเทศ) ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ส่วนในเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ผู้ส่งออกต้องเพิ่มความระมัดระวังในการคำนวณราคาขายสินค้า เพราะคาดความผันผวนของค่าเงินจะยังมีต่อเนื่องถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้น ในการพิจารณาค่าไฟฟ้ารอบต่อไป (พ.ค.-ส.ค.) หวังว่าจะปรับลดลง จากเงินบาทที่แข็งค่าทำให้การนำเข้าก๊าซและน้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าถูกลง
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3857 วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566