นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งให้กรมวิชาการเกษตร ยกระดับมาตรการควบคุมการนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์ ที่มีการแจ้งขออนุญาตนำเข้าผ่านทางด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร รวมถึงป้องกันและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการผลิตในแปลงของเกษตรกร ต่อปริมาณผลผลิต และต่อระบบการตลาดสินค้าเกษตรไทย จึงให้ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบการนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด และบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้ลงพื้นที่ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ และด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อติดตามการปฏิบัติงานการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้พืชและผลิตภัณฑ์ ที่มีความเสี่ยงของโรค แมลงศัตรูพืช ที่มีความเสียงสูง ต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงประกาศที่เกี่ยวกับการนำเข้าของกรมวิชาการเกษตร
จากข้อมูลปี 2565 ประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 438,095 ชิปเมนท์ มูลค่าประมาณ 377,995 ล้านบาท โดยสินค้า 3 ลำดับแรกที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลือง กากข้าวโพด ข้าวสาลี
นอกจากนี้ยังมีการนำเข้ากลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงกับราคาผลิตของเกษตร เช่น มะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล โดยกำหนดด่านนำเข้าเพียง 2 ด่าน คือ ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ โดยใน ปี 2565 มีการนำเข้ารวมประมาณ 139,653 ตัน 1,370 ชิปเมนท์ มูลค่าประมาณ 1,394 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้าจากเวียดนาม 459 ชิปเมนท์ ปริมาณ49,042 ตัน มูลค่า 468 ล้านบาท และจากอินโดนีเซีย 911ชิปเมนท์ ปริมาณ 90,611 ตัน มูลค่า 926 ล้านบาท
“ได้มอบนโยบายโดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช เข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าควบคุม มีความเสี่ยงจะกระทบกับเกษตรกร ระบบการผลิตพืช และสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรต้องเข้มงวดกับการสำแดงเอกสารตรงตามรายการสินค้าที่ตรวจปล่อย ตามเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้า หรือ License per Invoice เช่น มะพร้าว หอม กระเทียม ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าควบคุม มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นทุกด่านตรวจพืชต้องเข้มงวดในการควบคุมการนำเข้าภายใต้กฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแล เพื่อป้องกันการลักลอบ และการสำแดงเท็จ ที่อาจส่งผลต่อราคาผลผลิตของเกษตรกรในประเทศ” นายระพีภัทร์ กล่าว