ผู้สื่อข่าวรายงาน (8 ก.พ. 2566) นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการปลูกและพัฒนากาแฟทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เชื่อมโยงตลาดนำการผลิต นำการวิจัย โดยบรูณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด โครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ฯลฯ
ทั้งนี้ได้ติดตามแปลงปลูกกาแฟอะราบิกาของเกษตรกร นายอานนท์ พวงแสน ณ บ้านปางบง ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เกษตรกรที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้ง ในกาแฟประกวดสุดยอดกาแฟไทยที่จัดขึ้นโดยกรมวิชาการการเกษตร ในปี 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ได้ติดตามแปลงกาแฟอะราบิกาอินทรีย์ และกระบวนการแปรรูปกาแฟอะราบิกาอินทรีย์ ณ The First Valley Coffee Academy บ้านแม่ตอนหลวง ต.เทพเสด็จ จ.เชียงใหม่ ของนายเอก สุวรรณโณ กรรมการการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565 และผู้เชี่ยวชาญการแปรรูปกาแฟ ที่ใช้หลักตลาดนำการผลิต จนได้รับรองมาตรฐาน USDA Organic ผลผลิตไม่พอต้องความต้องการของตลาด
สำหรับกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทส่งเสริมองค์ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตกาแฟอะราบิกาคุณภาพ เช่น การปลูกและการดูแลรักษา การจัดการปุ๋ยและน้ำ การขยายเชื้อราบิวเวอร์เรียสายพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร (DOA-B18) อัตรา 400 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ของ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมกับการตัดแต่งกิ่ง การทำความสะอาดแปลง ทั้งนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้แจก เชื้อราบิวเวอร์เรียและอุปกรณ์ ให้เกษตรกร นายก อบต และ กลุ่มสหกรณ์ด้วย
อีกทั้งยังสนับสนุนต้นกล้ากาแฟอะราบิกา พันธุ์เชียงใหม่ 80 ซึ่งมีลักษณะต้นเตี้ย ข้อสั้น ให้ผลผลิตต่อไร่สูง คุณภาพดี กลิ่นหอม และ กาแฟอะราบิกาพันธุ์เชียงราย 1 และ 2 ที่มีลักษณะเด่นคือ ต้านทานต่อโรคราสนินสูง ทนทานโรค แมลง มากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เกษตรกรได้รับความรู้ สร้างอาชีพ มีรายได้ และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากกรมวิชาการเกษตร พัฒนากาแฟให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังเน้นย้ำนโยบายของ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร ยกระดับการนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบการนำเข้าเมล็ดกาแฟ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรภายในประเทศ
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรม การประกวดสุดยอดกาแฟไทยในปี 2566 (Thai Coffee Excellent 2023) ขึ้น ภายใต้แนวคิด “การผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Coffee Production) กาแฟดูแลป่า รักษาต้นน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ” เพื่อประชาสัมพันธ์กาแฟไทย สร้างการรับรู้ จุดเด่นกาแฟไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับประเทศและระดับสากล และพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มทักษะผู้ประกอบการกาแฟ ในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าของกาแฟไทย
ขณะเดียวกันยังเพิ่มการบริโภคและสร้างมูลค่ากาแฟที่ปลูกในประเทศไทยด้วย โดยผู้ที่สนใจส่งเมล็ดกาแฟเข้าร่วมประกวดสามารถสอบถามรายละเอียดการสมัครประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2566 เพิ่มเติมได้ที่ http://www.doa.go.th หรือ Facebook: ThaiCoffeeExcellence