อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

11 ก.พ. 2566 | 10:45 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2566 | 13:34 น.

"ศูนย์ข้าวชุมชน" อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบใหม่ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับเกษตรแปลงใหญ่ กันครหาไม่โปร่งใส เล็งสวมโมเดลข้าวรักษ์โลก หันมาใช้จุลินทรีย์แทน อุดหนุนพันธุ์ข้าวเป็นรายจังหวัด สอดคล้องกับความต้องการของโรงสีในพื้นที่นั้น พ่วงขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้ชาวนา

ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ 

 

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงแนวคิดที่จะเปลี่ยนโลโก้ใหม่ จาก “ศูนย์ข้าวชุมชน” มาเป็น “ศูนย์บริหารจัดการข้าวครบวงจร”   เปลี่ยนชื่อไม่ได้  แต่วิธีการทำงานมุ่งเน้น การผลิตข้าวและพัฒนาชาวนาอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าว เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่

 

 

โดยใช้การผลิตเกษตรกรรมมูลค่าสูง เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาข้าวด้วยตนเอง ช่วยให้ชุมชนและองค์กรชาวนา เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การยกระดับการบริหารจัดการผลผลิตข้าวตลอดระบบห่วงโซ่การผลิตและการตลาดข้าวอย่างครบวงจรจากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์ข้าวชุมชนและกรมการข้าว นั้น

 

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ข้าวชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการดำเนินงานในการส่งเสริมสนับสนุน และติดตาม กำกับ ดูแล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ปัจจุบันได้มีคำสั่งแต่งตั้งศูนย์ข้าวชุมชน ทั่วประเทศ  6,559 ศูนย์ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  มีแผนงาน ระเบียบ โครงการสามารถตรวจสอบได้ผ่านแอพพลิเคชั่น จะลงไว้ละเอียดเลย ที่ตั้งศูนย์ รายเอียดข้อมูลแต่ละศูนย์ อยู่ระหว่างการรวบรวม

 

 

 

เปิดแอพพลิเคชั่น “ศูนย์ข้าวชุมชน”

 

ส่วนโปรแกรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่เช่นนั้นจะตอบคำถามสาธารณะไม่ได้ว่า “ศูนย์ข้าวชุมชน” ตั้งอยู่ที่ไหน อุปโลกน์ขึ้นมาหรือไม่ ต้องการของบประมาณมาทำงานหรือไม่ เพราะการตรวจสอบต้องชัดเจนจะทำมั่วไม่ได้ ต้องชัดเจนทุกเรื่อง ทั้งที่ตั้งแปลง ไปซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ อาทิ แปลงใหญ่  หรือหน่วยงานอื่นหรือไม่ แต่ถ้าไปซ้ำซ้อนกับแปลงใหญ่ เกษตรกรต้องเลือกว่าจะเข้าศูนย์ข้าวชุมชน หรือแปลงใหญ่ เพราะ เกษตรแปลงใหญ่ จะเป็นตัวครอบของศูนย์ข้าวชุมชนอีกทีหนึ่ง ส่วนคณะกรรมการจะต้องแยกให้ชัดเจน ไม่ใช่คณะกรรมการส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชน อีกส่วนหนึ่งเป็นแปลงใหญ่ กรณีไม่เอา ต้องแยกให้ขาด

 

 

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

 

“ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องจะลำบาก เพราะเกิดมีผู้ใหญ่ตรวจสอบ จริงหรือไม่ว่ามีศูนย์ข้าวชุมชน ตามที่ไปอ้างถึงมีตัวตนหรือไม่ แล้วไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใดหรือไม่ เพราะเวลาไปของบประมาณมา ยกตัวอย่าง ศูนย์ข้าวชุมชน ก. เป็นนาแปลงใหญ่ด้วย ในบุคคลเดียวกัน อย่างนี้เรียกว่าซ้ำซ้อนไม่ได้ ต้องละเอียด และต้องทำให้ถูกต้อง โปร่งใส ชัดเจน ผมก็ไม่ต้องลำบาก ไม่ถูกด่าเวลาไปถึงสำนักงบประมาณแล้ว จะโดนกล่าวหาว่าไปหลอกเอางบประมาณมาหรือเปล่า ต่อไปจากนี้ไม่ใช่แล้ว”

 

จัดโซนนิ่งข้าว

อย่างวันนี้ “ศูนย์ข้าวชุมชน” หลายศูนย์ในเขตภาคอีสานมาขอเมล็ดพันธุ์ 79 และ 85 ด้วย ไม่ให้เลย เพราะเกรงว่าจะไปปะปนกับข้าวหอมมะลิ ต้องแยกโซนไว้ก่อน ข้าวชนิดไหนควรจะลงในพื้นที่ไหน จะได้จำแนกชนิดข้าวออกมาเป็นรายจังหวัด รายภาค ไม่เช่นนั้นข้าวปะปน ถ้าได้งบประมาณมาแล้วก็จะบริหารไปก็มีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ แต่ปีนี้เมื่อมาอยู่ภายใต้การบริหารของกรมการข้าวในยุคนี้

 

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

 

1.พื้นที่ที่จะบริหารจัดการ ที่ตั้งของศูนย์ข้าวชุมชน จะต้องยกให้เป็นของกรมการข้าว เพื่อที่จะบริหารจัดการได้ ถึงจะอุดหนุนงบประมาณลงไปได้

 

2.ศูนย์ข้าวชุมชน ต้องเป็นนิติบุคคล ถึงจะโอนเงินไปให้ได้

 

ส่วนกรณี “แปลงใหญ่” ไม่ได้ ทำไมไม่ได้ เพราะไม่ได้ถือบัญชีแปลงใหญ่ คนที่เป็นเลขา ก็คือ กรมส่งเสริมการเกษตร ก็เลยควบคุมอะไรไม่ได้

 

ดันโครงการข้าวรักษ์โลก ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน

 

นาย ณัฏฐกิตติ์  กล่าวว่า ในส่วนโครงการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ นับว่าเป็นโครงการ อันดับแรก ของศูนย์ข้าวชุมชน ที่มีการจัดระเบียบใหม่  ก็ได้ให้ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง ชุมชนจะต้องแก้ปัญหาเอง ไม่ใช่เราจะไปแก้ปัญหาให้ เพราะฉะนั้นจะต้องเรียงลำดับความสำคัญว่าในหมู่บ้านชุมชนไหนที่มีความสำคัญ และชุมชนไหนจะผลิตและจริงจัง ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะของบประมาณมาโดยไม่ได้ทำอะไร ก็ไม่รับ ต้องทำศูนย์ให้ปรากฏชัดเจน กรมการข้าวทำโครงการสนับสนุนไป

 

“วันนี้โครงการศูนย์ข้าวชุมชน จะเอาโครงการข้าวรักษ์โลกไปลงบังคับให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีต้องลงทุนใช้จุลินทรีย์ แล้วต้องปลูกข้าวตามพันธุ์ชนิด ที่กรมการข้าวกำหนด โดยครั้งแรกอาจจะต้องอุดหนุนเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปลูก เครื่องเพาะ ถึงจะได้ขายคาร์บอนเครดิต ก็ต้องทำตามทุกข้อ แล้วถ้าบริหารจัดการไม่ได้ก็เสียงบประมาณ เพราะฉะนั้นกรมต้องบริหารจัดการได้”

 

เล็งขายคาร์บอนเครดิตให้เนเธอร์แลนด์

 

นาย ณัฏฐกิตติ์   กล่าวว่า  วันนี้เราต้องทราบว่าใน 4-5 ปีข้างหน้า จะขายข้าวลำบาก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจึงได้ไปทำข้อตกลงกับประเทศเนเธอร์แลนด์จะส่งรายละเอียดตามข้อตกลงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงได้เห็นช่อง จึงนำโครงการนี้ลงไปใช้จุลินทรีย์เพื่อไม่ให้โครงการซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น จึงทำค่อยเป็นค่อยไป  อย่างโครงการส่งเสริมใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี ทำ 3-4 ปี ซ้อนในโครงการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพ”

 

อธิบดีกรมการข้าว จัดระเบียบ “ศูนย์ข้าวชุมชน”

 

ในการไปทำงานลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้สั่งกระชับคณะผู้บริหาร 8 คน ให้สำรวจแต่ละศูนย์มีเครื่องมืออะไรบ้าง  อาทิ ถ้ามีรถไถ หรือ รถเกี่ยว ก็ไม่ต้อง ให้ใช้ซื้องบประมาณในส่วนเครื่องมือขาด ไม่มี  แต่จะต้องซื้อให้เหมาะสม และมีคุณภาพ ต้องการเปิดกว้าง ใช้บทเรียนในอดีตอย่าไปคิดแทน พร้อมกับประสานโรงสี แต่ละพื้นที่มีความประสงค์จะซื้อข้าวชนิดไหน

 

“ ยกตัวอย่างพื้นที่ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ไม่ปลูกข้าวหอมมะลิ ทำนา 2 ครั้ง  เป็นข้าวนาปรัง เป็น พันธุ์ข้าวชัยนาท หรือพันธุ์ข้าว กข85 หรือพันธุ์ กข95 เป็นข้าวพื้นแข็ง จะให้ส่งข้าวโรงสี ในพื้นที่ตรงนั้น ชาวนาก็จะไม่สามารถกลับมาปลูกข้าวหอมมะลิได้แล้ว เพราะถ้าปล่อยให้กลับมาปลูกข้าวหอมมะลิ จะปนกัน”

 

นี่เป็นก้าวใหม่ ของ “ศูนย์ข้าวชุมชน” ที่อยู่ภายใต้การบริหารกรมการข้าว ต้องการให้เกษตรกรปลูกข้าวให้ได้ผลดีมีปัจจัยหลายอย่างทั้งคุณภาพของดินปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชและได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาดสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้