ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกองเรือประมงขนาดใหญ่ โดยข้อมูลปีการประมง 2565 ล่าสุดมีจำนวน 60,249 ลำ ในจำนวนนี้สัดส่วนประมาณ 5% เป็นเรืออวนลาก(3,187 ลำ) มี 3 แบบได้แก่ อวนลากแผ่นตะเฆ่,อวนลากคู่ และอวนลากคานถ่าง ที่ทำประมงโดยการลากอวนไปตามพื้นท้องทะเล ซึ่งผลของการจับปลาในลักษณะนี้ได้นํ้าหนักเกินครึ่งหนึ่งของปริมาณการจับปลาทั้งหมดในประเทศไทยมาเป็นสิบปี
แหล่งข่าวจากกรมประมง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ มูลนิธิความยุติธรรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำงานเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และสิทธิของชุมชนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรนั้นในระดับสากล โดย EJF มุ่งมั่นต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing) รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมง
ทั้งนี้ EJF เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 โดยสืบสวนเหตุการณ์ต้องสงสัยว่าอยู่ในขอบข่ายการก่ออาชญา กรรมทางทะเลอย่างเป็นอิสระ และพัฒนานโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่าง ๆ ในรัฐบาลไทย และสังเกตการณ์การบังคับใช้ระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังของไทยอย่างใกล้ชิด
ล่าสุด EJF ได้ทำรายงาน “อุตสาหกรรมอวนลากในประเทศไทย” ระบุ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลของไทยจากเป็นเครื่องมือประมงชนิดไม่เลือกจับ กล่าวคือ เป็นการจับทุกสิ่งทุกอย่างที่ลากผ่าน รวมถึงลูกของสัตว์นํ้าเศรษฐกิจ ทำให้ประชากรสัตว์นํ้าเหล่านั้นไม่สามารถเพิ่มประชากรต่อไปได้ เป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอย่างสาหัส และทาง EJF ได้เสนอแผนการยกเลิกเครื่องมืออวนลากคู่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายสูงสุดให้เกิดผลสำเร็จภายใน 3 ปี
อย่างไรก็ดีแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรือประมงพาณิชย์ของไทยมีจำนวนลดลง แต่ข้อมูลตั้งแต่ปี 2550 ขนาดเครื่องยนต์เฉลี่ยต่อเรืออวนลากทั้ง 3 ประเภทมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลจากชาวประมงและบริษัททำการประมงพาณิชย์ต่างให้ความสนใจกับการลงทุนซื้อเรือลำใหญ่ขึ้นเพื่อเลี่ยงแรงกดดันจากการจำกัดใบอนุญาต นอกจากนี้การที่เรือลำใหญ่สามารถดึงอวนขนาดใหญ่ขึ้นได้นานขึ้นและไกลจากฝั่งมากขึ้น ยังทำให้สามารถจับปลาได้มากขึ้น แม้จะใช้เรือไม่กี่ลำ
ดังนั้น “การลากอวน” เป็นหนึ่งในวิธีการทำประมงที่สร้างปัญหามากที่สุด โดยมีประมาณการณ์ว่า สามารถจับปลาสัตว์นํ้าได้ถึง 30 ล้านตันต่อปี สูงกว่าวิธีการทำประมงแบบอื่นๆ นอกจากนี้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังพบว่าการลากอวนได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ 600-1,500 ล้านตันต่อปี โดยก๊าซเรือนกระจกนี้ถูกปล่อยจากการใช้นํ้ามันในการเดินเรือและรบกวนตะกอนที่มีคาร์บอนบริเวณพื้นที่ทะเล
ทำให้การลากอวนปล่อยก๊าซในปริมาณที่เทียบเท่ากับอุตสาหกรรมการบินในแต่ละปี ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ EJF จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิรูปการจัดการประมงอวนลากในไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด
นายสะมะแอ เจะมูดอ ที่ปรึกษาสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 19 ก.พ.นี้จะมีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นเรื่องการออกใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน (คลิกอ่าน) ที่กรมประมง ซึ่งในข้อกำหนดได้มอบอำนาจให้อธิบดีกรมประมงเป็นผู้ออกใบอนุญาตออกไปทำประมงนอกชายฝั่ง แต่ที่ห่วงคือ หากมีการเปลี่ยนตัวอธิบดีฯในอนาคตอาจมีข้อจำกัดเรื่องระยะเขตทำประมงมากขึ้น
เช่นเดียวกับเครื่องมือทำประมง ก็ต้องช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบเพื่อให้ลดผลกระทบกับพี่น้องชาวประมงให้น้อยที่สุด โดยในปีแรกอยากจะให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมภาษีใบอนุญาตการทำประมง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มาขึ้นทะเบียนให้มากที่สุด
ด้านนายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมีใบอนุญาตทำประมงจะส่งผลดีกว่าเพราะเป็นการจัดระเบียบให้อยู่ในระบบ ไม่ใช่จะทำประมงได้ตามอำเภอใจ โดยนับจากเรือที่มีขนาดเกิน 3 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งคงไม่กระทบมาก คาดจะมีประมาณ 1 หมื่นลำ
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,863 วันที่ 19-22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566