แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันนี้ (วันที่ 18 พฤษภาคม 2565) นายสตีฟ เทรนท์ (Mr. Steve Trent) ผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environment Justice Foundation: EJF) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการหารือด้วยนั้น
หนึ่งในประเด็นที่หารือ ที่ส่อเป็นปมร้อนในอนาคต กล่าวคือ ทางมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ได้มีการแนะนำให้ดำเนินการลดกองเรืออวนลากของประมงไทยโดยจัดการอย่างระมัดระวังและสามารถวัดผลได้ จากที่ “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเรือประมงมากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนมากถึง 61,832 ลำ (ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2564) แบ่งเป็นเป็นเรือประมงพาณิชย์ 10,595 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 51,237 ลำ ทั้งนี้ เรือประมงพาณิชย์ของไทยมีจำนวนลดลง 249 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559
ถึงกระนั้น ยังคงมีสัญญาณบ่งชี้ว่า การประมงของไทยยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ อันเป็นผลจากการปล่อยปละละเลยและบริหารจัดการที่ผิดพลาดมานานหลายทศวรรษ โดยส่วนหนึ่งเป็นเหตุมาจากการอนุญาตให้มีเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือประมงประเภททำลายล้างอย่างเรืออวนลากด้านล่าง สามารถทำประมงต่อได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์นำของไทยเป็นอย่างยิ่ง
ในปัจจุบัน มีเรืออวนลากด้านล่าง ทั้งหมด 3,370 ลำ นับเป็นหนึ่งในสามของจำนวนเรือประมงพาณิชย์ทั้งหมด เรือประมงเหล่านี้จะลากอวนขนาดใหญ่ไปตามพื้นทะเล ทำให้จับปลาเป็ด มาได้ด้วย ทั้งนี้ "ปลาเป็ด" ไม่เหมาะต่อการบริโภค แต่สามารถใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์น้ำได้
ผลพวงจากการจับสัตว์น้ำแบบไม่เลือกชนิด คือ เครื่องมือเหล่านี้สามารถจับปลาเศรษฐกิจวัยอ่อน เช่น ปลาแมคเคอเรลและปลาหมึกมาได้เป็นจำนวนมากซึ่งหมายความว่า เรืออวนลากเหล่านี้มักจับปลาอ่อนวัย ก่อนที่ปลาจะมีโอกาสสืบพันธุและขยายประซากรได้ โดยงานวิจัยที่จัดทำขึ้นในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า 81% ของปลาเป็ด เป็นปลาอ่อนวัยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจการทำประมในลักษณะดังกล่าวจะทำให้สัตว์น้ำในแหล่งประมงของไทยหมดไป หรือตกอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมและไม่มีมูลค่ทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ เรืออวนลากยังสร้างความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ในบางจังหวัดจนไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว โดยหากนับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา ค่าประมาณอัตราการจับต่อการลงแรงประมง (วัดปริมาณอาหารทะเลที่จบได้เป็นกิโลกรัมต่อชั่วโมง) น่านน้ำไทยได้เสียหายไปแล้วเกือบ90% ซึ่งเป็นผลกระทบนใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเล (ทั้งเชิงพาณิชย์และขนาดเล็ก)
รวมไปถึงภาคส่วนด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอย่างภาคการท่องเที่ยวรัฐบาลไทยต้องเร่งทบทวนการทำประมงแบบอวนลากด้านล่างในอุตสาหกรรมการประมงไทย และพิจรณาใช้มาตรการ เพื่อติดตามและห้ามไม่ให้มีการลากอวนเกิดขึ้น พร้อมทั้งยับยั้งการใช้เรือประมงขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูง ทั้งนี้ EJF ขอเสนอให้มีการวางแผนยกเลิกอย่างถี่ถ้วนโดยให้ความสำคัญกับ “เรืออวนลากคู่” ขนาดใหญ่ที่สุดก่อน
นอกจากนี้ยังมีการหารือกันในหลายประเด็น ผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อมยินดีที่ได้พบรองนายกรัฐมนตรี และหารือกับคณะผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาลไทยในวันนี้ พร้อมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการประมงไทย โดย EJF ได้ติดตามการทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และชื่นชมการเป็นผู้นำของรองนายกรัฐมนตรีที่ทุ่มเทแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายและปัญหาด้านแรงงานจนมีความก้าวหน้า ทั้งนี้ EJF ในฐานะพันธมิตรของรัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะประสบความสำเร็จการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายได้ในที่สุด และหวังว่าในอนาคตความสำเร็จเหล่านี้จะช่วยพิสูจน์ยืนยันถึงความพยายามต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาโดยตลอด
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไทยยังคงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย โดยได้ออกมาตรการ 4 แนวทาง ได้แก่ 1) การดำเนินการตามนโยบาย ในการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมง IUU (IUU-Free Thailand) อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การสร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือ การติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูล
3) การพัฒนามาตรฐานการควบคุมการนําเข้าสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำ และ 4) การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับของไทย นอกจากนี้ กรมประมงยังได้จัดทำโปสเตอร์และแผ่นพับประชาสัมพันธ์แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และแนวปฏิบัติกรณีลูกเรือเกิดอุบัติเหตุ โดยได้จัดทำทั้งภาษาไทยและอังกฤษ พร้อมขอรับการสนับสนุนจาก EJF ในการจัดแปลแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นภาษากัมพูชา และเมียนมา ซึ่งผู้อำนวยการ EJF หวังว่าไทยจะร่วมมือกับ EJF อย่างต่อเนื่อง พร้อมยินดีสนับสนุนการแปลแนวปฏิบัติฯ เป็นภาษากัมพูชาและเมียนมา
ยืนยันแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ของไทยสอดคล้องกับหลักการเพื่อความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลทั่วโลกของมูลนิธิฯ และยืนยันความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนในการต่อต้านการทำประมง IUU ผ่านศูนย์เครือข่ายอาเซียน โดยได้พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประมงออนไลน์ ซึ่งได้นำเสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนรับทราบ และภายใต้กรอบความร่วมมือของเอเปค
ไทยได้มีการจัดทำ Roadmap ในการต่อต้านการทำประมง IUU โดยได้ร่วมกับสหรัฐฯ และมาเลเซีย จัดทำโครงการจัดการเครื่องมือประมงที่ถูกละทิ้งหรือสูญหาย เพื่อส่งเสริมการทำประมงที่ถูกกฎหมายและยั่งยืน ผู้อำนวยการ EJF ยินดีที่ทราบว่า รัฐบาลไทยมีความคืบหน้าอย่างมากในด้านการใช้กลไกที่โปร่งใส เชื่อว่าการนำหลักปฏิบัติด้านความโปร่งใสของ EJF มาปรับใช้จะช่วยสร้างภาคการประมงไทยให้ยั่งยืนได้ รวมทั้งเชื่อมั่นว่า ไทยจะใช้เวทีเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพให้นานาชาติได้รับทราบถึงความสำเร็จที่ไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) เป็นองค์กรเอกชน (NGO) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 มีรายได้หลักมาจากเงินบริจาคและการจัดกิจกรรมระดมทุนจากผู้ประกอบการชั้นนำ และผู้มีชื่อเสียงในสังคม พันธกิจหลักคือการรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ การทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม ตลอดจนการต่อต้านการทำประมง IUU