“สุนทร”เตือนเร่งปรับตัว “อียู”เอาจริงไม่ซื้อสินค้า จากพื้นที่ทำลายป่า

21 ก.พ. 2566 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2566 | 10:45 น.

“สุนทร”เตือนรัฐ-เกษตรกรไทยเร่งปรับตัว รับมือ “อียู”เอาจริง บังคับใช้กฎหมายไม่ซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ชี้สวนยางยั่งยืนคือคำตอบ จี้ กยท.เป็นเจ้าภาพหลักบริหารจัดการ ระบุห้ามมิให้เกิดค่าใช้จ่ายกับเกษตรกรโดยเด็ดขาด

นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  เผยว่า เวลานี้โลกกำลังล้อมประเทศไทยซึ่งขอเตือนให้ระวังสงความการค้า จากกฎหมายไม่ซื้อผลิตผลทางการเกษตรที่ผลิตมาจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ของสหภาพยุโรป(EU)

ทั้งนี้ผลจากก่อนที่ตนจะเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อมาทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐด้านการเกษตรและปัญหาที่ดิน ได้มีนัดสัมภาษณ์กับคณะทำงานของสหภาพยุโรป(EU) กรณีกฎหมายของ EU ว่าด้วยการไม่ซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ผลิตจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า(Deforestation) ซึ่งน่าจะบังคับใช้ในอีก 2 ปี ข้างหน้า โดยมีพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ไม้ เป็นต้น

นายสุนทร  รักษ์รงค์

โดยสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

1.เกษตรกรไทยทุกคนให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีใครอยากตัดไม้ทำลายป่า แต่การที่มีเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้และที่ดินของรัฐ เป็นเพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย และมีบางพื้นที่มีกรณีป่ารุกคน ไม่ใช่มีเฉพาะกรณีคนรุกป่า

“ประเด็นนี้ผมมีความเห็นไปว่า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2561 ก่อน กฎหมาย Deforestation ของ EU จะบังคับใช้ เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้า (Trade war) ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาสินค้าทางการเกษตรของไทย ดังนั้นหากรัฐบาลเร่งออกหนังสือการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐตามกฎหมาย กรณี Deforestation ของ EU ก็จะไม่มีผลกระทบกับเกษตรกรไทย”

“สุนทร”เตือนเร่งปรับตัว “อียู”เอาจริงไม่ซื้อสินค้า จากพื้นที่ทำลายป่า

2.กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ( Due Diligence) คือการรู้ที่มาของผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรว่ามาจากการผลิตในที่ดินที่รุกป่าหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องยางพารา ตนได้เสนอให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เป็นเจ้าภาพหลัก เพราะมีทั้งบุคลากร เงิน และอำนาจรัฐในการจัดการและการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และห้ามมิให้เกิดค่าใช้จ่ายกับเกษตรกรโดยเด็ดขาด

เพราะปัจจุบันได้เกิดต้นทุนที่สูงกับเกษตรกร กรณีการรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนระดับสากล การคำนวณคาร์บอนเครดิต เป็นภาระที่เกษตรกรไทยที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย จากมิติโลกล้อมประเทศไทยในกระแสกรีน แต่กลับสวนทางกับปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ที่สร้างความเดือดร้อนอย่างมากอยู่ก่อนแล้ว

และ 3.ได้บอกไปว่าในส่วนของสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และสมัชชาสวนยางยั่งยืนไทย กำลังต่อสู้เพื่อและผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนยางไทยเปลี่ยนแปลงความคิด(Mindset) เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นสวนยางยั่งยืน ซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดการสวนยาง เพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตาม SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ(UN) และกระแสโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)

“สุนทร”เตือนเร่งปรับตัว “อียู”เอาจริงไม่ซื้อสินค้า จากพื้นที่ทำลายป่า

สวนยางยั่งยืน คือคำตอบบนทางเลือกและทางรอดของชาวสวนยาง โดยเฉพาะพี่น้องชาวสวนยางที่อยู่ในที่ดินที่อยู่ในเขตทับซ้อนป่าไม้ เพื่อไม่ติดกับดักกฎหมาย Deforestation ของ EU ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ใช้เวลา 2 ชั่วโมงเต็ม อย่างน้อยสุนทรลูกชาวบ้าน คนนี้ได้ใช้หัวใจพูด ได้ใช้ความรู้ความสามารถอันมาจากประสบการณ์จริง ที่ได้ต่อสู้เพื่อพี่น้องชาวสวนยางและคนจนเสมอมา รวมทั้งมีข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อป้องกันมิให้กฎหมาย Deforestation ทำร้ายเกษตรกรไทยด้วย”

สำหรับที่มาของ EU ที่เลือกสัมภาษณ์นายสุนทร รักษ์รงค์ ครั้งนี้ สืบเนื่องจากนายสุนทรเป็นบอร์ด(Excecutive Committee) GPSNR ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มยางธรรมชาติระดับโลก และเป็นกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเวลานี้ยังรักษาการคณะกรรมการ(บอร์ด)การยางแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ที่สำคัญยังเป็นผู้เชี่ยวชาญ(Expert) ด้านยางพารา จากที่ได้ต่อสู้เรื่องการแก้ไขปัญหายางพาราไทยมานับสิบปี

“ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ผมได้แนะนำให้ไปสัมภาษณ์เกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันคนอื่นด้วย เพื่อให้เอกสารรายงานต่อ EU ในกรณี Deforestation ครอบคลุมไปยังผู้มีส่วนได้เสียตามหลักของกระบวนการมีส่วนร่วม และเพื่อให้รายงานฉบับนี้มีความสมบูรณ์ โดยให้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน” นายสุนทร กล่าว