แหล่งข่าวจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ 21 สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสานกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตามมาตรา 49 (3) (ฉบับที่ 3) ที่เริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
เนื่องจากในระเบียบฉบับใหม่นี้แทนที่จะเอื้อ ส่งเสริม และสนับสนุนสถาบันเกษตรกร ตรงกันข้ามกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่สร้างปัญหาในการยื่นขอรับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนายางยาพาราฯในปัจจุบัน
"ระเบียบฉบับใหม่นี้กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถาบันเกษตรกรในสังกัด กยท.ทั้งกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ยางพารา เพราะไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องขององค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ การเขียนและวิเคราะห์โครงการโดยเฉพาะการวิเคราะห์เรื่องของความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เชิงลึกทั้ง IRR NPV B/C จุดคุ้มทุนซึ่งสิ่งเหล่านี้เกษตรกรไม่มีความรู้ ซ้ำร้ายเมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถที่จะให้คำแนะนำใด ๆ หรือช่วยแก้ไขปัญหาได้เพราะเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เช่นกัน" แหล่งข่าว กล่าวตั้งข้อสังเกต
"เวลานี้สถาบันเกษตรกรทั่วประเทศปั่นป่วนมาก โครงการติดอยู่ที่ ผอ.เขตระดับภาค ซึ่งในส่วนของเขตอีสานล่างนั้นโครงการถูกตีกลับทั้งหมดจำนวน 21 สถาบัน พื้นที่ 10 จังหวัด วงเงิน 22 ล้านบาท ให้เวลาในการแก้ไขและยื่นเพิ่มเติมเอกสารเพียง 2 วัน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน
ผ่านมาครึ่งปีงบประมาณแล้วแต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครผ่านเลย ทำให้กลุ่มเกษตรกรเสียโอกาส เติบโตไม่ได้จากระเบียบใหม่ที่ออกมามัดคอจนไม่สามารถที่จะขยับตัวหรือทำอะไรได้ จึงอยากจะเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาในส่วนนี้ให้กับเกษตรกรด้วย วันนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากระเบียบฉบับใหม่ที่ออกมานี้"
สำหรับระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตามมาตรา 49 (3) (ฉบับที่ 3)มีทั้งหมด 9 ข้อ โดยในข้อ 7 ได้เพิ่มเติมในเรื่องของหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพาราเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตามมาตรา 49 (3) พ.ศ.2562 ข้อ 26/4 ระบุว่า
การยื่นขอรับเงินอุดหนุนของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้ใช้แบบตามที่การยางแห่งประเทศไทยกำหนดพร้อมเอกสาร เช่น โครงการพร้อมรายละเอียดประกอบ/ แผนธุรกิจ, งบทดลอง ณ วันสิ้นเดือน ก่อนยื่นคำขอการรับเงินอุดหนุน, งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสดปีก่อนที่ยื่นคำขอรับเงินอุดหนุน ในกรณีปิดบัญชีไม่แล้วเสร็จให้ใช้งบการเงินก่อนหน้านั้น 1 ปี ในกรณีก่อตั้งใหม่ไม่เกิน 1 ปี ให้ใช้งบทดลองของเดือนก่อนหน้ายื่นคำขอ 1 เดือน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าในระเบียบฉบับใหม่นี้ได้กำหนดกรอบการพิจารณาให้เงินอุดหนุนโดยมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อเกษตรกรในการยื่นขอรับเงินอุดหนุน เช่น กำหนดให้จัดทำ IRR, NPV,B/C , งบกระแสเงินสด, ระยะเวลาคืนทุนและจุดคุ้มทุน รวมถึงจัดทำรายงานเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของโครงการที่เคยได้รับเงินอุดหนุนจาก กยท. เป็นต้น
ทั้งนี้ กยท.เขตอีสานล่าง กำกับดูแล 10 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และอำนาจเจริญ