นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมมีนโยบายที่จะจัดเกรดโรงคัดบรรจุหรือล้งโดยแยกเป็นสีเขียว เหลือง และแดง เพื่อเป็นการช่วยการทำงานของชุดตรวจสอบ สามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นทันต่อฤดูผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดซึ่งมีระยะเวลาจำกัด โดยการจำแนกเกรดหรือการให้สีจะมาจากการติดตามการบริหารจัดการและพฤติกรรมของล้งที่ผ่านมา ประกอบการให้คะแนนจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร(ศวพ.) ในแต่ละภูมิภาค
"ล้งที่ได้เป็นสีเขียวหมายถึงล้งที่มีการปฏิบัติตามระเบียบที่กรมกำหนดและให้ความร่วมมือดีกับหน่วยงานและมีความเข้าใจกับแนวปฏิบัติ อาจจะลดการเข้าไปตรวจสอบ ส่วนสีเหลือง และแดง คือล้งที่อาจจะมีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง และจะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจ ดังนั้นขอชวนให้ทุกล้งปฏิบัติตามแนวทางที่กรมกำหนดเพื่อเป็นสีเขียวซึ่งถือว่าเป็นชื่อเสียงของแต่ละแห่งด้วย อย่างไรก็ตามขอให้ทุกล้งช่วยตรวจสอบทุเรียนก่อนซื้อ ไม่ซื้อทุเรียนอ่อนจากมือตัดที่ไม่รักษากติกา เพื่อรักษาคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนหลุดรอดออกมาตลาดหรือส่งออก " อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
ทั้งนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุในพื้นที่จังหวัดตราดซึ่งเริ่มมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดโดยได้ตัดทุเรียนพันธุ์พวงมณีลูกแรกของปี2566 ที่สวนของนายบุญจง บุญวาที และตรวจเยี่ยมโรงคัดบรรจุหรือล้งโกศล-ตู่ ซึ่งได้มาตรฐานจีเอ็มพีในพื้นที่ อ.เขาสมิง จ.ตราด (12 มี.ค.66) โดยขอความร่วมมือจากชาวสวน มือตัด และล้งในการช่วยกันไม่ตัดทุเรียนอ่อน ย้ำนโยบายทุเรียนคุณภาพภาพการขึ้นทะเบียนสวน GAP การตรวจความสุก/อ่อน อีกครั้ง ณ โรงคัดบรรจุ และสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและเข้าอบรมมือตัดทุเรียนพร้อม ประเดิมตัดพวงมณีลูกแรก ภาคตะวันออก ราคา 250-300 บาท/กิโลกรัม
อย่างไรก็ดีในส่วนล้ง สีเขียว ตัวชี้วัด ก็คือ การตรวจความสุก/อ่อน อีกครั้ง ณโรงคัดบรรจุ ดังนั้น ล้งที่รับซื้อทุเรียน จากสวนที่ขึ้นทะเบียนมือตัดทุเรียนคุณภาพซึ่งในแต่ละล็อตที่ตัดจะต้องระบุชื่อ ที่อยู่ ผู้ตัดไว้ เพื่อการติดต่อประสานได้ หากมีข้อผิดพลาด โดยเฉพาะเมื่อพบปัญหาการตัดอ่อน
ในอนาคตจะทำเป็นคู่มือเพื่อตัดวงจรการตัดทุเรียนอ่อนออกมาขายถือว่าผิดกฎหมาย เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษปรับและจำคุก ด้วยแรงจูงใจจากราคาที่สูง ขายได้ราคาดี โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูกาล จึงทำให้ชาวสวนและพ่อค้าบางรายตัดทุเรียนอ่อนออกมาขาย
นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (ศวพ.6 ) กล่าวว่า ในการจำแนกเกรดสีของล้งนั้น ขณะนี้ทางศวพ.6 ได้เริ่มทำข้อมูลเพื่อเตรียมให้คะแนนแล้วจะให้แล้วเสร็จก่อนฤดูทุเรียนนี้ ซึ่งทางกรมจะมอบป้ายแสดงสีให้ทางล้งไว้ติดที่สำนักงานด้วย โดยกรณีที่ล้งใดประสงค์จะขอปรับปรุงเพื่อยกระดับมาอยู่สีเขียวทางสวพ.พร้อมที่จะอำนวยความสะดวก เพราะเป้าหมายหลักของกรมคือการส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ
สำหรับจำนวนสวนทุเรียนทั่วประเทศ 61,637 สวน ภาคตะวันออก 27,276 สวน ภาคใต้ 29,497 สวน และพื้นที่อื่นๆ 4,864 สวน โรงคัดบรรจุทุเรียนทั่วประเทศ 1,177 แห่ง ภาคตะวันออก 619 แห่ง ภาคใต้ 462 แห่ง และพื้นที่อื่นๆ 96 แห่ง
อนึ่ง ประวัติ "ทุเรียนพวงมณี" ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio Zibethinus ( L.) มีถิ่นกำเนิดจากจังหวัดจันทบุรีและนิยมปลูกเฉพาะภาคตะวันออกของประเทศไทยมาช้านานแล้ว ใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี หลังปลูกลงแปลง จึงจะเริ่มออกผลผลิต และจะให้ผลผลิตมากเต็มที่ เมื่อมีอายุประมาณ 10 ปี ผลมีขนาดเล็ก หนักประมาณ 1.5-2.5 กิโลกรัม ผลทรงรี ปลายผลแหลม หนามตรงนูนแหลม เนื้อสีเหลืองเข้ม เนียนละเอียดไม่มีเสี้ยน รสชาติหวาน กลิ่นหอมอ่อน ๆ จุดเด่นคือ ผลดก ติดเป็นพวงใหญ่ เมล็ด มีเมล็ดขนาดใหญ่ เมล็ดมีลักษณะทรงรีแข็ง อยู่ข้างในเนื้อ เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อน มีผิวเรียบลื่น ข้างในเปลือกเมล็ดมีสีขาว
สรรพคุณและประโยชน์
ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยใยอาหารสูง ซึ่งจะมีเส้นใยอาหารอยู่ประมาณ 3-5% แล้วแต่สายพันธุ์ การกินทุเรียนจึงช่วยในเรื่องของการขับถ่ายได้ดี แต่ไม่แนะนำให้กินทุเรียนเพื่อหวังกระตุ้นการขับถ่าย เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับทั้งคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และไขมันสูงไปด้วย แก้อาการท้องร่วง สำหรับวิธีการแก้อาการท้องร่วงด้วยทุเรียน ตามตำรับยาไทยจะใช้รากทุเรียนเพื่อแก้อาการท้องร่วง รวมทั้งแก้ไข้ให้อาการดีขึ้น
ส่วนเปลือกทุเรียนมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยรักษากลาก เกลื้อน ช่วยสมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย รักษาแผลพุพอง ตานซาง และแก้ฝีให้อาการดีขึ้น ในเนื้อทุเรียนมีกำมะถันที่ให้ความร้อนแก่ร่างกาย พร้อมทั้งช่วยบำรุงกำลัง และช่วยขับพยาธิไส้เดือนได้ ที่สำคัญใบทุเรียนก็ยังสามารถนำมาใช้เพื่อขับพยาธิและแก้ดีซ่านได้อีกด้วย