“คนเลี้ยงหมู”กับนโยบายพรรคการเมืองที่อยากได้ เทคะแนนปราบ “หมูเถื่อน”

15 มี.ค. 2566 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2566 | 11:24 น.

การชูนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในเวลานี้ อยู่ในความสนใจของประชาชนสาขา โดยอาชีพ “เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู” หนึ่งในรากฐานสำคัญในฐานะผู้ผลิตอาหารของประเทศ ที่มีอยู่มากกว่าล้านครอบครัวหรือราว 4-5 ล้านคน เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้

ทั้งนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู วาดภาพความหวังจากพรรคการเมืองในฝัน ตลอดจนรัฐบาลที่อยากได้เป็นอย่างไรนั้น นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) ได้ฉายมุมมอง ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งหากพรรคใดจะยกขึ้นเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง เชื่อว่าคงเรียกคะแนนจากคนกลุ่มนี้ได้ไม่น้อย

นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า ในฐานะประชาชนทั่วไปอยากเห็นนโยบายต่าง ๆ ที่ชูออกมาในการหาเสียงนั้นสามารถปฏิบัติได้จริง และในฐานะเกษตรกรก็อยากเห็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกร มีนโยบายที่เด่นชัด และมีการวางแผนสนับสนุนเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม

 ที่ผ่านมานักการเมืองไทยจะให้ความสนใจเรื่องพืชไร่ เช่นข้าวโพด ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง แต่กับภาคปศุสัตว์ ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่บอบช้ำจากปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) ให้สามารถกลับมาเลี้ยงใหม่ให้ได้ แม้คนเลี้ยงหมูทั่วประเทศจะดูแลตัวเองมาตลอด แต่นโยบายใหม่ต้องต่อยอดให้เกษตรกรมีรายได้ที่มีเสถียรภาพ ไม่ต้องหวั่นเกรงกับความผันผวนในอาชีพ ภายใต้นโยบายที่ชัดเจน จะทำให้เกษตรกรยืนได้ด้วยขาตนเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“คนเลี้ยงหมู”กับนโยบายพรรคการเมืองที่อยากได้ เทคะแนนปราบ “หมูเถื่อน”

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคอีสาน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ภาครัฐจะแก้ปัญหาแบบระยะสั้น เช่น ประเทศไทยเลี้ยงสัตว์มาก แต่ข้าวโพดไม่พอใช้ รัฐกลับกำหนดราคาขั้นต่ำของข้าวโพดเพื่อให้ผลตอบแทนสูงแก่ผู้ค้าพืชไร่ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นจะดีกว่า ทุกวันนี้การที่วัตถุดิบในประเทศมีราคาสูงหรือแพงกว่าการนำเข้า สะท้อนถึงการแก้ที่ไม่ถูกจุด แทนที่จะส่งเสริมให้การปลูกมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีผลผลิตได้อีกเท่าตัว แต่กลับไม่ส่งเสริม พอใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวก็มาตั้งราคาประกัน ก่อปัญหาเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคปศุสัตว์

“เกษตรกรอยากได้พรรคการเมืองที่เข้าใจ และรู้จริงถึงการวางรากฐานที่ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่เอาแต่ประชานิยมแจกงบ-แจกเงิน แต่ต้องสร้างอาชีพ ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรเดินเองได้ ไม่ต้องหวังพึ่งพารัฐ หน้าที่รัฐคือต้องให้คำแนะนำ ช่วยเหลือสนับสนุน และผลักดันการขายเนื้อสัตว์ไปในตลาดโลก”

อย่างไรก็ตาม บางครั้งนโยบายก็ออกมาใช้ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะพรรคนั้น ๆ ไม่ได้รับเลือก บางโครงการดี ๆ ที่เป็นของเก่าก็เดินต่อไปไม่ได้จากมีการเปลี่ยนรัฐบาล ดังนั้นเหนืออื่นใดการเมืองไทยควรมีเสถียรภาพที่ดีกว่านี้

“คนเลี้ยงหมู”กับนโยบายพรรคการเมืองที่อยากได้ เทคะแนนปราบ “หมูเถื่อน”

สำหรับปัญหาที่หมักหมมและยังแก้ไม่ได้ของคนเลี้ยงหมูคือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือ “ASF” ที่รัฐจำเป็นต้องวางระบบป้องกันโรคที่ดี โดยทุ่มเทให้เต็มที่กับการวิจัยพัฒนาวัคซีนที่กรมปศุสัตว์กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อปกป้องเกษตรกร ทุกวันนี้บางพื้นที่ที่ประสบ ASF เกษตรกรยังไม่กล้ากลับมาลงหมูเข้าเลี้ยง เพราะการแก้ปัญหาหนักไปกับการทำลายทิ้ง ยังขาดการพัฒนาที่จริงจัง

อีกประเด็นสำคัญที่ขอฝากถึงทุกพรรคการเมืองคือ “ปัญหาหมูเถื่อน” ที่เยอะจนไม่รู้จะพูดอะไรเพิ่ม ล่าสุด ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่แหลมฉบังที่เดียวเปิดไปแล้ว 100 ตู้ พบเป็นหมูเถื่อน 57 ตู้ รวมจำนวนกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ถ้าเปิดครบ 331 ตู้จะพบจำนวนมากมายขนาดไหน เรียกได้ว่าหมูเถื่อนนี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หมูไทยราคายังคงร่วงต่อเนื่อง ซึ่งรัฐต้องเร่งแก้ปัญหานี้โดยด่วน

“คนเลี้ยงหมู”กับนโยบายพรรคการเมืองที่อยากได้ เทคะแนนปราบ “หมูเถื่อน”

“เชื่อว่าผู้บงการนำเข้าหมูเถื่อนเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากจริง ๆ จึงทำให้ปราบไม่หมดเสียที หากพรรคการเมืองใดชูนโยบายปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ก็อยากให้ฟันธงลงมาตรงๆว่าจะปราบหมูเถื่อนให้สิ้น ผมและคนเลี้ยงหมูทั่วประเทศจะเทคะแนนให้ทันที” 

นายสิทธิพันธ์ กล่าวตอนท้ายว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นกรณีศึกษาให้พรรคการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ ได้เรียนรู้ที่จะวางนโยบายอย่างเหมาะสมและให้ความสำคัญกับห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศตั้งแต่ฐานรากหรือต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ รวมถึงมีความกล้าหาญที่จะปราบ “หมูเถื่อน” เพื่อรักษาเสถียรภาพอาชีพเกษตรกร และเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศปลอดภัยจากหมูไร้คุณภาพ หากกล้าประกาศอย่างชัดเจนเชื่อว่าคะแนนเสียงจะไหลมาเทมาจนนับไม่ทัน