ตามที่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)ได้ประชุมสัมมนารับฟัง ความเห็นต่อ "ร่างค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร" ครั้งที่ 1 เรื่อง “หลักปฏิบัติในการตรวจ และรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 เวลา 09.30-16.00 น. โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น นาดา ดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการกำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ก่อนนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำ ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบและรับรองฯ ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น
นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคเอกชน จำนวน 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมผู้ค้าและส่งออก ผลไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ และสมาคมทุเรียนไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง “หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรง รวบรวมและโรงคัดบรรจุ” ดังกล่าวข้างต้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.รายละเอียดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ชัดเจนและมีความซ้ำซ้อนกับมาตรฐานอื่น ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มาตรฐาน GMP ที่การปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนใน การดำเนินการ จึงเป็นภาระในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ รวมถึงค่าบริการที่ เป็นภาระเพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ประกอบการและมีการแจกแจงที่ไม่ชัดเจน
2. มีความเสี่ยงในการดำเนินงานของ มกอช./เจ้าหน้าที่ (CB) ที่เป็นผู้ตรวจสอบรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) มีโอกาสดำเนินการตรวจและรับรองมาตรฐานฯ ให้แก่ผู้ประกอบการได้ไม่ทันต่อ ฤดูกาลเกี่ยวเก็บผลผลิตทั้งประเทศ 3. ไม่มีกำหนดบทลงโทษเกษตรกร และผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยว หรือผู้ที่เก็บเกี่ยวทุเรียนอ่อน
4.ไม่เห็นด้วยที่ผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยวต้องผ่านการฝึกอบรมไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถส่งผล ผลิตที่เก็บเกี่ยวขายให้โรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุได้ เนื่องจาก อาทิ การฝึกอบรมดังกล่าวยังไม่มีกระบวนการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ครบทั้ง ระบบที่ชัดเจน อีกทั้งแรงงานตัดทุเรียนบางส่วนเป็นทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนมาก
ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้จริง และการเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยวแล้วเกษตรกรยังเป็นผู้เก็บเกี่ยวทุเรียนในสวนของตนเอง ดังนั้น หากมาตรฐานฯ นี้ได้ถูกบังคับใช้จะทำให้เกษตรกร นั้นจะไม่สามารถตัดทุเรียนของตนเองได้ ในขณะที่ผู้ที่ทราบคุณภาพและระยะการแก่ ของทุเรียน เพื่อเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุด คือ เกษตรกร
ขณะที่นายกมล ภูมิพงศ์ไทย นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ กล่าวเสริมว่า ในสมาคมมีผู้ประกอบการหลากหลายมีทั้งคนค้านและคนสนับสนุน แต่ในความคิดเห็นส่วนตนมองว่าควรเป็นเรื่องพึงกระทำอยู่แล้วไม่น่าที่จะมีค่าใช้จ่ายตรงนี้มากกว่า
เช่นเดียวกับ นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ตอนที่ประชุมก็ไม่มีใครบอก แล้วก็ไปรับนโยบาย พอมารู้อีกทีก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็มาเก็บเงินอีก สมาคมใหญ่ 3-4 สมาคม ไม่มีใครรู้เรื่องเลย พอเห็นเรื่องก็ตกใจ เลยต้องทำหนังสือค้านไปไม่เห็นด้วย
เช่นเดียวกับนายสัญชัย ปุระณะชัยคีรี นายกสมาคมการค้าและการส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า พอมีเรื่องร่างค่ามาตรฐาน ถือว่าเป็นข่าวร้ายในวงการส่งออกทุเรียนไทยที่จะเป็นอุปสรรคต่อเป้าการส่งออกทุเรียนแสนล้าน เพราะจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกโดยไม่จำเป็น
แหล่งข่าว มกอช. กล่าวว่า ร่างมาตรฐานจะประกาศในเร็ว ๆ นี้ โดยการประกาศในช่วงแรกจะเป็นมาตรฐานทั่วไปซึ่งจะเกี่ยวพันกับค่าใช้จ่ายในลักษณะที่ถ้าเกษตรกรหรือผู้ประกอบการสมัครใจก็จะดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายแต่ถ้าไม่สมัครใจเข้าร่วมมาตรฐานก็ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในเรื่องการขอเข้าระบบมาตรฐานซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเอกสารการรับรอง
เมื่อประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปแล้วระยะหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าในกฎหมายกำหนดไว้เท่าไร จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นมาตรฐานบังคับพอเป็นมาตรฐานบังคับแล้วถ้าจะทำระบบมาตรฐานจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในเรื่องของการขอรับรองระบบ อย่างไรก็ดีประเด็นในการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผู้ประกอบการ เสียงก็แตกแบ่งเป็นสองฝ่าย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
เปิดไทม์ไลน์ การดำเนินงานจัดทำร่างมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2564