จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมในช่วงวันที่ 26 – 28 มีนาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรขอแจ้งเตือนเกษตรกรให้เตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ไม้ยืนต้น และไม้ผลที่กำลังมีผลผลิตในขณะนี้ และขอแนะนำวิธีการหลีกเสี่ยงและบรรเทาความเสียหายในการดูแลป้องกันไม้ยืนต้น และไม้ผลในช่วงฤดูแล้งนี้ ดังนี้
1. ปลูกต้นไม้บังลม เช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้หรือพื้นที่เพาะปลูก จะช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงได้
2. ตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลงเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย
3. ทำเนินดินเพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคน และทำระบบระบายน้ำ
4. เก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหาย และลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง
สำหรับการดูแลพื้นที่เกษตรภายหลังจากเกิดพายุฤดูร้อน เกษตรกรควรดูแล ดังนี้
1. กรณีที่ต้นไม้ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยทำการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก หรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง
2. ขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย
3. กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิม เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น
4. หากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น
5. เกษตรกรควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล และเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย
ทั้งนี้ กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 คือ เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท ทั้งนี้เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน