รับซื้อผลผลิตมาแปรรูปที่อุดรฯ ในมาตรฐานระดับพรีเมียม ก่อนส่งให้คู่ค้าที่คุนหมิงกระจายสู่ตลาดจีน
ดร.พรเทพ ศักดิ์สุจริต ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์ คิงส์ ฟรุต จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่โรงแรมคราวน์ พลาซ่า นครคุนหมิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัทฯได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท Yunnan Dimioa Electronica Commerce Co.,Ltd. ของนักธุรกิจชาวจีน ในการส่งทุเรียนแกะเปลือกแช่แข็งจากไทยไปที่นครคุนหมิง ประเทศจีน ภายใน 5 ปี มูลค่าการส่งออกรวม 500 ล้านบาท
พิธีลงนามนี้มีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายพรรวิช ศิลาอ่อน ผอ. พัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 นางสาวณัฐิยา สุจินดา ผอ.สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม นางสาววรรณลดา รัตนพานิช กงศุล (ฝ่ายพานิชย์) ณ นครหนานหนิง รวมทั้ง นายณัฐ วิมลจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองคุนหมิง ในโอกาสไปประชุมทูตพาณิชย์ไทยในจีน ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายพรเทพกล่าวอีกว่า ส่วนทางต้นนํ้าได้เตรียมพร้อมไว้ก่อนแล้ว โดยได้ไปพบปะเกษตรกร ตัวแทนชาวสวนทุเรียน ทั้งในภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมถึงพื้นที่ที่มีผลผลิตทุเรียนขึ้นชื่อ เช่นที่จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีทุเรียนภูเขาไฟ เพื่อเป็นแหล่งป้อนผลผลิต โดยทางบริษัทจะรับซื้อทุเรียนมาแปรรูปเป็นทุเรียนแช่แข็งระดับพรีเมียมที่โรงงานแปรรูปทุเรียนที่จังหวัดอุดรธานี ก่อนจะจัดส่งให้บริษัทผู้รับซื้อที่คุนหมิง เพื่อกระจายเข้าตลาดจีนต่อไป
ทั้งนี้ วางแผนแปรรูปทุเรียนไทยเป็น 2 รูปแบบ คือ ทุเรียนแกะเปลือก และทุเรียนแช่แข็ง คุณภาพระดับพรีเมียม ที่สามารถรักษารสชาติคงที่ คุมความสุกของเนื้อทุเรียน ให้อยู่ในระดับตามความต้องการของผู้บริโภคและตลาด ซึ่งได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรักษาคุณภาพให้คงที่ มีสภาพที่ดีก่อนถึงมือผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ต้องเข้มงวดมาก เพราะผู้บริโภคชาวจีนจะสั่งซื้อทุเรียนจากผู้ขายทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่
“ทุเรียนไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง ถ้ารักษาคุณภาพสินค้า รักษาโอกาสที่มีอยู่เวลานี้ให้ดี เพื่อเกิดความยั่งยืน เนื่องจากการแข่งขันในตลาดจีนนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากทุเรียนเวียดนาม มาเลเซีย รวมถึงในอนาคตก็จะมีทุเรียนพันธุ์ที่ปลูกเองในประเทศจีน ออกมาเป็นคู่แข่งด้วย ทางเดียวของทุเรียนไทยที่จะรักษาตลาดจีนไว้ให้ได้คือคุณภาพ ตั้งแต่ต้นนํ้าคือชาวสวน ที่ต้องผลิตสินค้าคุณภาพ ปราศจากส่งปนเปื้อนส่งป้อนตลาด อย่าให้ซํ้าร้อยกรณีข้าวหอมมะลิไทย”
ในโอกาสลงนามร่วมมือกับธุรกิจจีนครั้งนี้ ยังได้นำทุเรียนภูเขาไฟของจังหวัดศรีษะเกษ ไปแนะนำตลาดด้วย ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากตลาดผู้นำเข้าของจีนมาก เพราะยังไม่ค่อยรู้จักสายพันธุ์ทุเรียนไทย ว่ามีอะไรบ้าง เมื่อวางขายในตลาดก็จะบอกรวมๆ ไปว่าทุเรียนไทย ซึ่งคนจีนจะคุ้นเคยกับพันธุ์หมอนทองและก้านยาว เมื่อมีการนำทุเรียนพันธุ์อื่นๆ เข้าไปจำหน่ายด้วย ผู้นำเข้าก็ไม่ได้ให้ข้อมูลความแตกต่างให้ลูกค้าทราบ อาจทำให้ผู้บริโภคสับสน หรือไม่เป็นตามความคาดหวังได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประชาสัมพันธ์ สร้างความรับรู้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยขยายตลาดทุเรียนไทยมากขึ้น
ดร.พรเทพกล่าวอีกว่า จากที่ได้สำรวจตลาดในนครคุนหมิง ยังมีความต้องการผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ เช่น เงาะ มังคุด มะม่วง อีกด้วย โดยมังคุดในตลาดคุนหมิงขายที่กิโลกรัมละ 300-400 บาท ทางบริษัทฯจึงมีเป้าหมายจะทำตลาดผลไม้ตามฤดูกาล โดยรับซื้อมารีแพ็คกิ้งให้เหมาะสมเพื่อส่งออกต่อไปด้วย
บริษัทมาทำธุรกิจส่งออกทุเรียนแกะเปลือกแช่แข็ง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรไทยให้สูงขึ้น โดยเข้าไปรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมตามกลไกตลาด นำมาแปรรูปเป็นสินค้าระดับพรีเมียม เพื่อการส่งออก ให้ผู้บริโภคได้รับประทานทุเรียนไทยที่มีคุณภาพ แต่ราคาก็จะสูงกว่าทั่วๆ ไป เป็นการยกระดับทุเรียนไทยให้มีความยั่งยืนสร้างตลาดทุเรียนไทยอีกระดับที่มีการรักษาคุณภาพสินค้าต่อเนื่องและมีจำหน่ายทั้งปี ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นการสร้างความยุติธรรมตลาดทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ
ทางบริษัทฯจึงลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 30 ล้านบาทเศษ ปรับ ปรุงโรงงานเดิมของบริษัท อุดร มาสเตอร์ เทค จำกัด ด้วยการติดตั้งห้องเย็นขนาดใหญ่ และอุปกรณ์ต่างๆ ในกระบวนการแปรรูปผลไม้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะลงทุนเพิ่มอีกก้อน เพื่อให้ได้มาตรฐาน GMP เพื่อการส่งออก ซึ่งได้เริ่มกระบวนการยื่นขอแล้ว เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด ในการผลิตสินค้าระดับพรีเมียม
ดร.พรเทพ เป็นเจ้าของบริษัท อุดรมาสเตอร์ เทค จำกัด ผู้ผลิต-จำหน่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ที่จังหวัดอุดรธานี เห็นโอกาสจากการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งเข้าตลาดจีนตอนใต้ โดยเฉพาะหลังจากรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ จึงหันมาบุกเบิกทุเรียนไทยแกะเปลือกเพิ่มทางเลือกผู้บริโภคชาวจีน
ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,877 วันที่ 9-12 เมษายน พ.ศ.2566