เช็คที่นี่ เกณฑ์เยียวยาเกษตรกร 2566 ประสบน้ำท่วม-ภัยพิบัติ ได้เงินกี่บาท

15 ก.ค. 2566 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2566 | 07:48 น.

ตรวจสอบเกณฑ์ใหม่ ในการเยียวยาเกษตรกร 2566 เมื่อประสบภัยพิบัติ พายุ ลูกเห็บ ถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนสไลด์ ได้เงินกี่บาท สรุปให้ที่นี่

ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 สืบเนื่องจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้มีการเตรียม มาตรการเยียวยาเกษตรกร ปี 2564  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจประสบภัยพิบัติ จากปัญหาฝนตกหนักและฝนตกสะสม ชึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนสไลด์ จนอาจสร้างความเสียหายให้กับพืชผลของเกษตรกร

 

โดยกำชับให้ "กรมส่งเสริมการเกษตร" เตรียมความพร้อมในการตั้งแต่ก่อนเกิดภัย จนถึงมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับ "หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564" บังคับใช้เมื่อเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564

 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลเกณฑ์เยียวยาเกษตรกรจาก "หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564" ระบุอยู่ในเงินทดรองราชการระเบียบ/หลักเกณฑ์/ประกาศ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศ ณ วันที่  27 สิงหาคม 2564 ลงนามโดย นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น

ด้านพืช

 

ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้   

 

- กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้อีก ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในอัตรา ดังนี้

 

ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท

 

พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท

 

ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท 

เกณฑ์เยียวยาใหม่ ช่วยเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ

 

- กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ถูกหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุทุกชนิดทับถม จนไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้และหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

 

- กรณีดังกล่าวได้ ให้ช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุ ที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชได้ในขนาดพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ ทั้งนี้ ราคาไม่เกินไร่ละ 7,000 บาท

ด้านประมง

ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติที่สัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ดังนี้

 

กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

 

ปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

 

สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร

 

ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท   

 

เช็คที่นี่ เกณฑ์เยียวยาเกษตรกร 2564 ประสบน้ำท่วม-ภัยพิบัติ ได้เงินกี่บาท

ด้านปศุสัตว์  

 

ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีที่เป็นการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยง และการจัดหาอาหารสัตว์ ตามราคาท้องตลาด หรือตามความจำเป็นเหมาะสม

 

การให้ความช่วยเหลือกรณีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ในอัตราไร่ละ 1,980 บาท แต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่

 

การให้ความช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริง แต่ไม่เกินเกณฑ์การช่วยเหลือที่กำหนด โดยให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้ (ตามรูปด้านล่าง)

เช็คที่นี่ เกณฑ์เยียวยาเกษตรกร 2566  ประสบน้ำท่วม-ภัยพิบัติ ได้เงินกี่บาท

 

ด้านการเกษตรอื่น ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ดังนี้

 

การปรับเกลี่ยพื้นที่ด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับเกลี่ยพื้นที่การไถพรวน การก่อสร้างคันดิน เพื่อการเพาะปลูกพืชหรือประกอบกิจกรรมด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโดยเหมาจ่าย โดยช่วยเหลือพื้นที่ที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 800 บาท

 

การปรับเกลี่ยพื้นที่นาเกลือทะเลที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับพื้นที่ทำนาเกลือทะเล ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่ที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

 

ค่าซ่อมแซมอาคารชลประทานและระบบชลประทานให้สามารถใช้งานได้ในช่วงฉุกเฉิน โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการระบายน้ำ ในกรณีใช้เครื่องจักรกลของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดำเนินการขุดลอกเปิดทางน้ำ งานกำจัดวัชพืชที่กีดขวางการระบายน้ำ งานขุดลอกดิน ทราย วัสดุที่ทับถมทางระบายน้ำ ให้นำอัตราราคางานตามราคากลางที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณหรือกระทรวงการคลังมาใช้โดยอนุโลมค่าจ้างเหมารถยนต์ ค่าระวางบรรทุกรถไฟและเรือบรรทุกของเอกชน เพื่อใช้ในการขนย้ายสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัย และที่นำไปสนับสนุนหรือขนส่งพืชหญ้าอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์ ให้เบิกจ่ายดังนี้

 

           - ค่าจ้างเหมารถยนต์และเรือบรรทุกของเอกชน ให้จ่ายเป็นรายวันตามราคาท้องถิ่น

 

          - ค่าระวางบรรทุกทางรถไฟ ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น

 

กรณีมีความจำเป็น หากรายการใดมิได้กำหนดให้จ่ายเป็นเงินให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติให้การช่วยเหลือพิจารณาให้จ่ายเป็นเงินก็ได้ โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม