ชำแหละภาคเกษตรไทย ประชานิยมไม่ตอบโจทย์ BCG-Net Zero ทางเลือกใหม่

08 เม.ย. 2566 | 00:54 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2566 | 01:08 น.

ปี่กลองการเมืองรับศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่กระหึ่มไปทั่วประเทศ พรรคใหญ่ กลาง เล็ก เปิดเวทีบลั๊ฟแหลกนโยบายประชานิยมเอาใจประชาชนเพื่อดึงฐานเสียงให้ได้มากที่สุด โดยไม่ค่อยสนใจกับผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต

เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายภาคการเกษตรที่เกษตรกรไทยยังติดกับดักรอรับเงินอุดหนุน ไล่จากอดีตทั้งโครงการรับจำนำข้าว มาถึงประกันรายได้ 5 สินค้าเกษตร สู่พักหนี้ยกหนี้ เติมรายได้เกษตรกร เพิ่มรายได้ต่อไร่ ฯลฯ ที่นักการเมืองกำลังแข่งหาเสียง โดยไม่ระบุที่มาที่ไปของเงินที่จะนำมาใช้อุดหนุนที่จะเพิ่มขึ้นหลายล้านล้านบาทอย่างชัดเจนว่าจะมาจากไหน

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ก่อนอื่นนักการเมืองต้องมีความเข้าใจบริบทของปัญหาและความท้าทายของภาคเกษตรและครัวเรือนเกษตรไทยในชนบทก่อนว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งสรุปที่สำคัญได้ 8 ประเด็นดังนี้

1.ผลิตภาพและผลิตภาพการผลิตตํ่า ทำการเกษตรบนฐานเศรษฐกิจดั้งเดิม ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตํ่า มีต้นทุนต่อหน่วยสูงเกษตรกรยังมีช่องว่างของหลักคิดในการทำธุรกิจฟาร์มสูง พึ่งพิงกับนโยบายการอุดหนุนทางด้านราคาของภาครัฐเป็นสำคัญ ขาดความเข้มแข็งและมั่นคงในการทำอาชีพเกษตร

 2.มีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ ทั้งจากภัยธรรมชาติ (สภาพภูมิอากาศแปรปรวนโดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากขึ้นๆ) เสี่ยงจากภัยศัตรูพืช สัตว์ และความแปรปรวนจากด้านราคา ทำให้ขาดความมั่นคงในรายได้ มีภาระหนี้สินสูง 3.มีขนาดเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรน้อย การผลิตยังผลิตพืชเชิงเดี่ยวเป็นสำคัญ ขาดแคลนแหล่งนํ้าเพื่อการเพาะปลูก ทำให้มีรายได้ในรอบปีจำกัด และต้องติดอยู่ในกับดักของวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม

 4.ผู้ที่ทำการเกษตร ณ ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มของผู้สูงวัยเป็นส่วนใหญ่ ขาดแคลนแรงงานในครัวเรือน และแรงงานจ้างในภาคเกษตรหายาก มีอัตราค่าจ้างแรงงานสูง การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อทดแทนแรงงานยังอยู่ในสัดส่วนที่จำกัด และเครื่องจักรกลที่มีอยู่ในท้องตลาดราคาแพงเกษตรกรรายย่อยเข้าถึงได้ยาก

ชำแหละภาคเกษตรไทย ประชานิยมไม่ตอบโจทย์ BCG-Net Zero ทางเลือกใหม่

 5.การรวมกลุ่มของเกษตรกรในชุมชนเป็นไปอย่างหลวมๆ สถาบันการเกษตรของชุมชนไม่เข้มแข็ง เกษตรกรขาดอำนาจต่อรองทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตและซื้อปัจจัยการผลิต ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนในการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตผันผวน ทำให้ฐานรายได้จากการเกษตรขาดความมั่นคง และไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

 6. ในระดับมหภาค ภาคการเกษตรของไทยใช้ทรัพยากรมาก แต่ให้ผลิตภาพการผลิตและผลตอบแทนตํ่า 7.ไทยอยู่บนฐานของการส่งออกสินค้าเกษตรปฐมภูมิเป็นสำคัญ โดยข้อมูลในปี 2565 มูลค่าการส่งออกรวมของไทย 9.94 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป 1.71 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 17.2% ของมูลค่าส่งออกรวมเท่านั้น และ 8.ฐานการผลิตด้าน agri-digital ecosystem และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังขาดการพัฒนาให้ถึงชุมชนและให้เกษตรกรเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางเพื่อการเรียนรู้สู่การเกษตรสมัยใหม่

ชำแหละภาคเกษตรไทย ประชานิยมไม่ตอบโจทย์ BCG-Net Zero ทางเลือกใหม่

  • ไม่ตอบโจทย์รากเหง้าปัญหา

“หากพิจารณาจากข้อปัญหาและความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้น วิเคราะห์ได้ว่า นโยบายของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอยู่ในปัจจุบันเป็นนโยบายประชานิยมที่เข้าไม่ถึงบริบทของข้อปัญหาทางการเกษตรของประเทศ เน้นไปที่คะแนนเสียงเลือกตั้งเฉพาะหน้า แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างของภาคการเกษตรให้เกิดความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในอนาคต”

ดังนั้นนโยบายที่นำเสนอของทุกพรรคจึงออกมาในลักษณะของการให้การอุดหนุนอย่างไม่มีเงื่อนไขเป็นสำคัญ ไม่ได้สร้างกลไกให้เกิดการปรับตัวแก่เกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับผลิตภาพในระบบไร่นา ที่เอื้อให้เกิดการปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในการทำการเกษตร ที่นำพาให้เกิดการยกระดับปรับโครงสร้างให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นได้

ชำแหละภาคเกษตรไทย ประชานิยมไม่ตอบโจทย์ BCG-Net Zero ทางเลือกใหม่

  • พักหนี้ทำลายตลาดสินเชื่อ

รศ.สมพร ยังได้ยกตัวอย่างนโยบาย “พักหนี้เกษตรกร” ของหลายพรรคที่ใช้หาเสียงเวลานี้ มองว่า เป็นนโยบายที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อตลาดสินเชื่อ โดยเฉพาะกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นนโยบายที่พรรคการเมืองได้(ในระยะสั้น) แต่สร้างความสูญเสียกับสังคมและประเทศ เพราะจะจบลงด้วยคนที่พอจะจ่ายหนี้ได้ก็ไม่ยอมจ่าย ท้ายที่สุดตลาดสินเชื่อในระบบก็จะถูกทำลาย แต่หากจะต้องทำควรมุ่งหากลุ่มเปราะบางและสร้างกลไกจำเพาะ เช่นจะลดดอกเบี้ยให้หากเกษตรกรเข้ารับการอบรมทำเกษตรอินทรีย์ หรือทำเกษตรผสมผสาน หรือมาเรียนรู้การทำอาชีพใหม่ หรือการปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าเพื่อแปลงเป็นทุน เป็นต้น

  • BCG-Net Zero ทางเลือกใหม่

“นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ผ่านมาในช่วงเกือบ 4 ปี ได้ผสานรวมกันระหว่างนโยบายประกันรายได้กับนโยบายสนับสนุนการปรับคุณภาพข้าวหลังการเก็บเกี่ยว บวกด้วยนโยบายคู่ขนาน เช่น นโยบายให้การอุดหนุนเงินกู้เพื่อเก็บข้าวของโรงสีและสหกรณ์การเกษตร นโยบายจำนำข้าวในยุ้งฉางของ ธ.ก.ส. นโยบายนาแปลงใหญ่ นโยบาย agri-map ซึ่งเป็นนโยบายให้การอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขเป็นสำคัญ ถือเป็นนโยบายที่สูญเปล่าเชิงงบประมาณ”

ชำแหละภาคเกษตรไทย ประชานิยมไม่ตอบโจทย์ BCG-Net Zero ทางเลือกใหม่

เมื่อถามว่านโยบายที่ดีกับภาคเกษตรไทยมีอะไรบ้าง รศ.สมพร ระบุว่า ในระยะหลังรัฐบาลได้มีการประกาศนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ BCG (Bio-Circular-Green) ที่ใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการปรับเปลี่ยนฐานเศรษฐกิจเดิมไปสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ และนโยบายการสร้างความสมดุลย์ในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) สนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และเกษตรกรยังมีช่องทางขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย หากขับเคลื่อนให้ดีจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรในระยะกลางและระยะยาว