นักวิชาการ ฉายภาพ 4 บทสรุป ของนโยบายประชานิยม แจกแหลก

26 มี.ค. 2566 | 23:45 น.

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ฉายภาพ 4 บทสรุป ของนโยบายประชานิยม พร้อมข้อเสนอแนะวิธีพาประเทศให้รอด

บรรยากาศการหาเสียงที่กำลังคึกคัก ปี่กลองการเมืองบรรเลงกันอย่างอื้ออึง บรรดาพรรคการเมืองต่างทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส. และโชว์นโยบายพรรคหากได้เป็นรัฐบาล ปฏิเสธไม่ได้ว่าสนามเลือกตั้ง 2566 นี้ แทบไม่มีพรรคการเมืองไหน ไร้นโยบายประชานิยม

นโยบายแจกแหลก กระจายทั่วทุกพรรค ทั้งในรูปแบบสวัสดิการผู้สูงอายุ , คนรายได้น้อย ,กลุ่มเปราะบาง, เด็กแรกเกิด เป็นต้น ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงนโยบายประชานิยมที่ปรากฏในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้

"นโยบายประชานิยมในตัวมันเองไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า คือนโยบายที่ประชาชอบ เพียงแค่ว่า ต้องไม่สร้างปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการคลัง และต้องไม่ทำให้เกิดการแยกขั้ว" ร.ศ.ดร สมชายกล่าว

พร้อมยกตัวอย่าง ประเทศเวเนสุเอลา ที่ประชาชนขั้วหนึ่งเสพติดนโยบายประชานิยม ประชาชนต้องหนีออกนอกประเทศ 5ล้านกว่าคน ฉะนั้นประชานิยมที่ดำเนินการแล้วรอดได้ ต้องเป็นประชานิยมที่ทำคู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างการแข่งขัน และไม่กระทบกับเสถียรภาพทางการคลัง

รศ.ดร.สมชาย ระบุถึงนโยบายหาเสียงที่มีลักษณะประชานิยมที่มีอยู่ว่า หากวิเคราะห์จาก 10 พรรคการเมืองหลักรวมกันจะพบว่า ต้องใช้เงินมากถึงประมาณ 2เท่าของงบประมาณแผ่นดิน หรืออยู่ที่ร่วม 6 ล้านล้านบาท 

หาเงินจากไหน

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า สิ่งที่ขาดหายไปจากนโยบายหาเสียงลักษณะนี้คือ จะดำเนินการได้อย่างไร หาเงินจากที่ไหนโดยที่ไม่เกิดผลกระทบ และยังขาดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ประชากรภาคเกษตร 36% ผลิต GDP ได้ประมาณ 6% ในขณะที่ตัวอย่างในประเทศอิสราเอล มี GDP สูงมาก แต่ใช้แรงงานน้อยมาก หากดำเนินการได้เช่นนั้นจึงจะมีโอกาสเป็นไปได้

ในขณะที่ประเทศไทยนโยบายภาคเกษตรเน้นไปที่การบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า นโยบายเกษตรลักษณะนี้ไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เกษตรกรมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพราะไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม และจะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำด้วย 

นโยบายเกษตรในลักษณะบรรเทาความเดือดร้อน จึงไม่สามารถทำให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ซึ่งหากส่วนนี้อยู่ไม่รอด เศรษฐกิจไทยก็ไม่รอดด้วย

สหภาพยุโรปในอดีตก็เคยประสบปัญหาที่จะต้องเข้าไปอุดหนุนภาคเกษตรจำนวนมาก ต่อมาได้มีการดำเนินการหลายอย่าง เช่น ยกเลิกการปลูกสินค้าที่แข่งขันไม่ได้ ,ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชแต่ละประเภท เป็นต้น

การดำเนินนโยบาย ต้องมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยต้องเริ่มทำแต่ไม่ใช่เฉพาะระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งการดำเนินนโยบายระยะกลาง และระยะยาวนั้น ต้องไม่วิตกว่าจะถูกยกเลิก เพราะหากเป็นโครงการที่ดี เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ หรือเปลี่ยนขั้วก็ไม่กล้ายกเลิก เพราะเป็นนโยบายที่เกิดประโยชน์แท้จริง

รศ.ดร.สมชาย ยกตัวอย่างนโยบายหาเสียง ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า เพียงแค่นโยบายในลักษณะให้เงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท ปัจจุบันมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 13 ล้านคน อีก16 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 21ล้านคน

ถ้าคำนวณงบประมาณที่ต้องจ่ายแก่ผู้สูงอายุประมาณ 13 ล้านคน ก็ต้องใช้เงินถึงร่วม 400,000 ล้านบาท คิดเป็น ประมาณ 50% ของงบลงทุนของประเทศ นั่นหมายความว่า งบลงทุนจะหายไปครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันประเทศมีงบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 700,000 ล้านบาท จะเหลือไม่ถึง 400,000 ล้านบาท

ในขณะที่งบลงทุนที่มีในปัจจุบันก็ถือว่าน้อยมากอยู่แล้ว และในอนาคตประเทศจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ก็ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น คำถามคือจะบริหารส่วนนี้ได้อย่างไร เนื่องจากปัจจุบันนี้สถานะทางการคลังก็ถึงคอหอยแล้ว หนี้สาธารณะที่ไม่ควรเกิน 60% ปัจจุบันก็เกินไปแล้ว หากต้องกู้เพิ่มถึง 70% เพราะความจำเป็น ก็จะเกิดปัญหาตามมา

4 บทสรุป ของนโยบายประชานิยม

หากจะดำเนินนโยบายหาเสียงลักษณะประชานิยมเช่นนี้ อาจมีผลลัพธ์ออกมา 4 รูปแบบ 

1. ดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ แต่ต้องลดรายจ่ายด้านอื่นอีกมากมาย ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และรายจ่ายประจำหลายรายการที่ยากต่อการปรับลด เช่น รายจ่ายกระทรวงกลาโหม เป็นต้น 

2. ฝืนทำตามนโยบายต่อไป แต่เป็นการก่อหนี้ และก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง จนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงมาโดยตลอด อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด 3ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือเพียง 2% ต่ำที่สุดในอาเซียน

ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยไม่เก่ง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันตกลง ฉะนั้นหากบริหารไม่ดี จะได้รับผลกระทบ 2เด้ง คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่ำลง และ มีปัญหาด้านการขาดเสถียรภาพทางการคลัง เหมือนประเทศอาเจนตินา ตั้งแต่ ค.ศ.1960 จนถึงปัจจุบัน

3. การดำเนินนโยบายในลักษณะเช่นนี้ อาจไปได้หากรัฐบาลเก่งจริง คือ สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และทำให้อัตราการเติบโตของประเทศเพิ่มขึ้นได้อีก 2% หรือ 700,000 ล้านบาท แต่เท่าที่ผ่านมา 30 ปี ยังไม่เคยทำได้ ฉะนั้นโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นจึงเป็นไปได้ยาก เพราะจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องของเทคโนโลยีซึ่งเราไม่เก่ง และการปรับปรุงเรื่องของเทคโนโลยีได้ ต้องเริ่มที่การปรับปรุงระบบการศึกษา จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

4. ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงได้ หรืออาจดำเนินการในขอบเขตที่ลดลงไปจากที่ประกาศเอาไว้มาก เช่น ค่าแรงที่เคยหาเสียงว่าจะปรับขึ้น อาจถูกยืดออกไปเป็นการปรับขึ้นในปีที่ 5 หรือกลายเป็นประกาศว่าเป็นเพียงการยกตัวอย่าง ไม่สามารถทำได้ ด้วยความจำเป็น

ส่วนเรื่องการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจากเม็ดเงินที่ให้กับประชาชนไปนั้น รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ไม่ได้ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นเท่าใดนัก มีขอบเขตที่จำกัดมาก เพราะไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเป็นการพัฒนาสินค้าและบริการ ไม่มีประเทศไหนที่เศรษฐกิจเติบโตจากเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่แต่ภายในประเทศ โดยไม่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งลักษณะนี้จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออีกด้วย