งบสวัสดิการท่วมหัว หวั่นประชานิยมหาเสียงเลือกตั้งทุบซ้ำฐานะการคลัง

25 มี.ค. 2566 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2566 | 12:09 น.

ภาระการคลังอ่วมงบสวัสดิการรัฐพุ่งต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท คาด 4 ปีกู้โปะ ขาดดุลงบประมาณ เพิ่มอีก 2.4 ล้านล้านบาท นักวิชาการ เอกชน หวั่นนโยบายประชานิยม หาเสียงเลือกตั้ง 2566 ของพรรคการเมืองทุบซ้ำฐานะการคลัง

การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 บรรดาพรรคการเมืองต่างโหมทุ่มนโยบายประชานิยมกันอย่างคึกคัก เพื่อดึงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในขณะที่นักวิชาการ ภาคธุรกิจ กังวลว่านโยบายที่ออกมามีความเสี่ยงกระทบต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันทั่วโลกต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น

ในขณะที่ภาระการคลังในปัจจุบันที่เกิดจากการจัดสรรสวัสดิการให้กลุ่มคนต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐจัดสรร"งบสวัสดิการ"ทะลุ 1.1 ล้านล้าน

จากข้อมูลของกระทรวงการคลังที่ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณพบว่า งบสวัสดิการภาครัฐที่จัดสรรให้กับกลุ่มต่างๆในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2557-2567) เพิ่มขึ้น 116% จาก 549,967 ล้านบาทในปี 2557 เพิ่มเป็น 1,186,183 ล้านบาท ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 636,200 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า งบประมาณที่ใช้เพื่อเป็นสวัสดิสูงสุด อันดับ 1 คือการจัดสวัสดิการสำหรับการออม เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยให้กับประชาชน 30 ล้านคน ประกอบด้วยการจัดสรรเงินสมทบของทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ และค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญราชการ วงเงินรวมกว่า 5.1 แสนล้านบาทต่อปี

อันดับที่ 2 ได้แก่ การจัดสวัสดิการรักษาฟรีทั่วไทย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้คนไทยทุกคน รวมค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐ วงเงิน 3 กว่าแสนล้านบาทต่อปี

อันดับ 3 การจัดสวัสดิการเพื่อสนับสนุนค่าครองชีพประชาชน 14-15 ล้านคน เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพสำหรับกลุ่มเปราะบาง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ/คนพิการ วงเงิน 182,263 ล้านบาทต่อปี

อันดับ 4 การจัดสวัสดิการสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิด และนโยบายเรียนฟรี ค่าอาหารหลางวันเด็ก โครงการนมโรงเรียน การสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสผ่านกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา ไม่รวมเงินกู้กยศ. กว่า 1.8 แสนล้านบาท

ฐานะการคลังและการใช้งบสวัสดิการของไทย

ฐานะการคลังยังมีความเสี่ยงคาด 4 ปีกู้เงินเพิ่ม 2.4 ล้านล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องดูเรื่องของการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีค่อนข้างจำกัดด้วย เพราะถ้าพิจารณาจากแผนการคลังระยะปานกลาง(ปีงบประมาณ 2567-2570) กรณีที่ยังไม่รวมนโยบายของพรรคการเมืองจากการหาเสียง พบว่า ในช่วง 4 ปีข้างหน้ารัฐบาลจะมีภาระรายจ่ายมากกว่ารายได้และจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกว่า 2.43 ล้านล้านบาท โดยประมาณการรายจ่ายรวม14.05 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 11.61 ล้านล้านบาท

ตามแผนการคลังระยะปานกลาง ได้ประมาณการวงเงินงบประมาณในปี 2567 จำนวน 3.350 ล้านล้าบาท ปี 2568 จำนวน 3.457 ล้านล้าบาท ปี 2569 จำนวน 3.568 ล้านล้าบาท และ ปี 2570 จำนวน 3.682 ล้านล้านบาท
ส่วนการประมาณการรายได้รัฐบาลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2570 ตามแผนได้กำหนดการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2567 จำนวน 2.757 ล้านล้านบาท ปี 2568 จำนวน 2.867 ล้านล้านบาท ปี 2569 จำนวน 2.953 ล้านล้านบาท และปี 2570 จำนวน 3.041 ล้้านล้านบาท

ด้านดุลการคลัง ในปีงบประมาณ 2567-2570 ยังเป็นงบประมาณขาดดุล โดยในปี 2567 ขาดดุล 593,000 ล้านบาท ในปี 2568 ขาดดุล 590,000 ล้านบาท ในปี 2569 ขาดดุล 615,000 ล้านบาท และในปี 2570 ขาดดุล 641,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในระยะปานกลางคือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ภาครัฐของไทยปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 14-15% ของจีดีพี ถือว่าตํ่ากว่าศักยภาพเศรษฐกิจมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรปที่มีสัดส่วนสูงถึง 20-24%ของจีดีพี

หากเทียบกับการขาดดุลงบประมาณปีละ 7-8 แสนล้านบาท สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีควรจะอยู่ที่ 18-20% ของจีดีพี รัฐบาลจึงมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศ

นักวิชาการ ห่วง ประชานิยมเสียงทุบซ้ำฐานะการคลัง

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งในปี 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น เรื่องที่สำคัญของทางพรรคการเมืองต้องคิดให้ดี คือการออกนโยบายอะไรมาต้องไม่กระทบกับเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว การทำนโยบายประชานิยม สิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆ ควรหยิบยกมาใช้ คือ ต้องคิดนโยบายบนหลักวิชาการ ดูตัวแปรต่างๆ พร้อมทดสอบให้ดีก่อนว่านโยบายนั้นส่งผลดีต่อประเทศและคนไทยจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการมองไปในระยะยาว ต้องหลีกเลี่ยงเอาประสบการณ์ทางการเมืองมาวิเคราะห์ เพราะจะส่งผลเสียหายต่อประเทศตามมา

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“แต่ละพรรคมีการใช้เงินสูงมาก โดยการเอาประชานิยมไปแก้ไขแบบผิดที่ผิดทางสุดท้ายแล้วจะแก้ไขอะไรให้กับประเทศไทยไม่ได้เลย เพราะความยั่งยืนไม่ได้อยู่กับประชานิยม แต่อยู่ที่การเติบโตต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประชานิยม และถ้าพรรคการเมืองทำนโยบายประชานิยมระยะสั้น ไม่มองอะไรที่เป็นระยะยาว ก็เสี่ยงที่จะทำให้ประเทศพังได้” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว

อย่างไรก็ตามในมุมมองของนักวิชาการอยากเห็นว่า การทำนโยบายบางอย่างมีความจำเป็นมากกว่าเรื่องของประชานิยม เช่น การสร้างงาน และการลดความเหลื่อมล้ำ โดยต้องออกนโยบายที่ช่วยให้เกิดการสร้างงานได้จริง และประชาชนมีรายได้ที่ยั่งยืน จากนั้นจึงมีนโยบายอื่น ๆ ตามออกมาเพื่อช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และการเจรจาการค้าเพิ่มเติม หากทำช้าจะส่งผลต่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และถ้าไม่เร่งทำ เชื่อว่าอีกไม่นานนักลงทุนจะหนีไปประเทศเพื่อนบ้านหมด

TDRI เสนอเก็บภาษี VAT ช่วยผู้สูงอายุ หนุนลงทุนเพื่อการเกษียณ

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มองว่า นโยบายหาเสียงส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองขณะนี้เป็นการแข่งกันใช้เงินเป็นหลัก ไม่ได้เน้นในเรื่องการหารายได้ และนโยบายที่พรรคการเมืองให้มาต้องมีความเหมาะสมกับทางด้านวิชาการ เพราะตามหลักการนโยบายหาเสียงต้องสะท้อนหน้าที่ของรัฐในการเข้ามาดูแลประชาชน

นณริฏ พิศลยบุตร  นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ส่วนตัวชอบนโยบายหลากหลายพรรคการเมือง เช่น นโยบายให้เงินเด็กเล็ก นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ที่กังวลใจจะเป็นนโยบายที่อาจจะสนับสนุนมากเกินไป เช่น การเพิ่มวงเงินในบัตร หากสูงเกินไปจะมีปัญหา และนโยบายรัฐสนับสนุนต่างๆ ก็มีความเห็นว่าอาจจะไม่เหมาะสม

หากมองในมุมเพิ่มวงเงินตามนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง เช่น การเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการประมาณ 14 ล้านคน จะทำให้รัฐใช้งบประมาณในการอุดหนุนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละ 14,000 ล้านบาท หรือ กว่า 170,000 ล้านบาทต่อปี ฉะนั้น ถือเป็นนโยบายที่แพง แต่หากลดนโยบายอื่นมาช่วย เช่น ยกเลิกการแทรกแซงสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้ ก็จะได้เงินส่วนนั้นมาดูแลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้

ขณะที่โครงการประกันรายได้แต่ละปีรัฐบาลใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลต่อมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ หากลดโครงการเหล่านี้ลงมาได้ สัดส่วนภาระการคลังของมาตรา 28 ก็จะลดลง ดังนั้น หากทำทุกอย่างก็จะเสี่ยงต่อภาระการคลังสูง ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยก็ควรอยู่ในระดับที่ตํ่า เพราะจะทำให้รัฐเข้มแข็ง หากเกิดวิกฤต รัฐบาลก็จะสามารถกู้เงินมาดูแลประชาชนได้

นายนณริฏ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าส่วนใหญ่พรรคการเมืองพูดถึงนโยบายเฉพาะการใช้เงินแต่ไม่ได้พูดถึงการเพิ่มรายได้ ซึ่งในมุมมองแนวทางการหารายได้ที่รัฐควรจะทำ เพื่อนำมาสนับสนุนนโยบายต่างๆ เพื่อไม่ให้มีผลกับภาระทางการคลังมากเกินไป จะต้องมีการแก้โครงสร้างภาษี เก็บภาษีคนรวย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต้องมีการเก็บเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจะต้องไม่นำวงเงินที่ได้มาไปใช้เอง ต้องนำรายได้ที่ได้จาก VAT เข้ากองทุน เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มอื่น เช่น ผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีและต้องทำ

ขณะที่การเก็บภาษีขายหุ้นนั้น มองว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากหุ้นเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ฉะนั้ หากมองว่าตลาดหุ้นเป็นของสำหรับคนรวยก็ควรจะเก็บภาษี แต่ตลาดหุ้นควรจะเป็นตลาดสำหรับทุกคน คนจนไม่ควรซื้อลอตเตอรี่ แต่ควรจะเข้ามาในตลาดทุน ฉะนั้น ตอนนี้ตลาดทุนยังไม่สามารถดึงคนจนเข้ามาได้ ซึ่งหากยิ่งมีการเก็บภาษีก็ยิ่งดึงคนเข้ามาไม่ได้ จะทำให้ยังไม่สามารถพัฒนาตลาดทุนได้

หวั่นนโยบายขึ้นค่าแรงขึ้นตํ่าเพิ่มภาระเอกชน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองที่ใช้ในการหาเสียงจะเป็นภาระด้านงบประมาณของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นหากได้เป็นรัฐบาล ขณะที่บางนโยบายเช่น การปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขึ้นตํ่า ซึ่งด้านหนึ่งเป็นผลดีกับลูกจ้างที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าจะเพิ่มภาระให้กับภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องบริหารจัดการด้านงบประมาณและแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการบริหารนโยบายให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระด้านงบประมาณ และหนี้สินของประเทศที่จะเพิ่มขึ้น