มีหนาว! ฟิลิปปินส์ เริ่มส่งออก “ทุเรียนสด” บุกตลาดจีนล็อตแรก

09 เม.ย. 2566 | 05:33 น.
อัพเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2566 | 05:41 น.

ไทยเจอคู่แข่งเพิ่ม หลัง ฟิลิปปินส์ เริ่มต้นการส่งออก “ทุเรียนสด” บุกตลาดจีนแล้วล็อตแรก ตั้งเป้าหมายทั้งปีส่งออกจำนวน 50,000 ตัน มูลค่ากว่า 5,250 ล้านบาท ขณะที่ไทยเองต้องเตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันสูง

สำนักข่าวกรองแห่งชาติ รายงานว่า ล่าสุดทางสำนักข่าวซินหัว Xinhua รายงานอ้างกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ เมื่อ 8 เมษายน 2566 ว่า ฟิลิปปินส์เริ่มส่งออกทุเรียนสดไปจีน หลังจากทั้งสองประเทศลงนามข้อตกลงแนวปฏิบัติในการส่งออกทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์ไปจีน เมื่อเดือนมกราคม 2566 โดยส่งออกล็อตแรกจำนวน 28 ตัน หลังจากนั้นจะส่งล็อตต่อไปอีก 28 ตัน และอีก 7.5 ตัน ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ในปี 2566 ฟิลิปปินส์มีแผนจะส่งออกทุเรียนสดไปจีน จำนวน 50,000 ตัน มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 5,250 ล้านบาท

ปัจจุบันจีนได้รับรองมาตรฐานฟาร์มทุเรียน 59 แห่ง โรงงานบรรจุภัณฑ์ 5 แห่ง และบริษัทส่งออก 5 แห่งของฟิลิปปินส์แล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองดาเวา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนแห่งใหญ่ของประเทศ

ยอดส่งออกทุเรียนไทยไปจีน

สำหรับประเทศไทยเองนั้น ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ระบุข้อมูลการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนแรกปี 2566 (มกราคม – มีนาคม) ประเทศไทยได้ส่งออกทุเรียนไปแล้วกว่า 68,751.01 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,609 ล้านบาท 

ขณะที่ข้อมูลการส่งออกในปี 2565 ประเทศไทยมีการส่งออกทุเรียนสดมูลค่า 110,144.22 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปยังประเทศจีน เป็นอันดับ 1 มูลค่า 106,038.47 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 96.27% ของการส่งออกทุเรียนสดโดยรวม

คาดทุเรียนไทยปีนี้ 7.5 แสนตัน

ขณะที่ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการเกษตร ล่าสุดรายงานสถานการณ์ไม้ผลภาคตะวันออกในภาพรวม ปี 2566 โดยเฉพาะทุเรียนนั้น ได้ประเมินว่า ในปี 2566 คาดว่าจะมีผลผลิต 756,465 ตัน เพิ่มขึ้น 24,135 ตัน หรือ 3.30% เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือนเมษายน 2566 

ทั้งนี้ได้กำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2566 ดังนี้

1.การประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนตามสายพันธุ์ คือ ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทุเรียนพันธุ์ชะนี ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ในวันที่ 15 เมษายน 2566

2.มาตรการควบคุมและป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ด้วยการกำกับการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อในน้ำหนักแห้ง โดยพันธุ์กระดุมต้องมีค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนไม่น้อยกว่า 27% น้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพวงมณี ไม่น้อยกว่า 30% น้ำหนักแห้ง และพันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32% น้ำหนัก ซึ่งหากเจอเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือเป็นทุเรียนอ่อน