รายงานข่าว(11 เม.ย. 2566) เผยว่า นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ให้การต้อนรับ นางสาวเซซิเลีย กาลาเรตา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ และหารือความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างไทย-เปรูซึ่งทั้งสองประเทศได้มีความสัมพันธ์ทางการทูต ที่ราบรื่นและฉันท์มิตรมาตั้งแต่ปี 2508 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 58 ปีแล้ว ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย และเปรู ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งด้านการขยายความร่วมมือทางการค้า และความร่วมมือด้านการเกษตร ซึ่งปัจจุบันสินค้าเกษตรที่ไทยอนุญาตให้นำเข้าจากเปรู ได้แก่ เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ ผลองุ่นสด ผลอะโวกาโดสดพันธุ์แฮสบลูเบอรี่
ทั้งนี้เปรู สามารถส่งออกผลอะโวกาโดพันธุ์แฮสมายังประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562 โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลอะโวกาโดสดจากสาธารณรัฐเปรู พ.ศ.2562ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการแมลงศัตรูพืชกักกัน นอกจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบระบบการส่งออกผลอาโวกาโดสดพันธุ์แฮส โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน
โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการตรวจสอบระบบ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2562 ระหว่างวันที่ 12-24 มิ.ย.โดยครั้งที่ 2 ได้เลื่อนออกไปเนื่องจากการระบาดของสถานการณ์โควิค (ระหว่างปี 2563-2565) แต่ทางกรมวิชาการเกษตรยังอนุญาตให้นำเข้าได้ ส่วนการตรวจสอบระบบครั้งที่ 2 กำหนดระหว่างวันที่ 14-24 เม.ย 2566 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรคาดว่า ผลการตรวจสอบระบบครั้งที่ 2 จะประสบผลสำเร็จด้วยดี
สำหรับผลจากการหารือในครั้งในในเบื้องต้น กรมวิชาการเกษตรมีแผนที่จะเปิดตลาดส่งมะพร้าวน้ำหอมไปยังเปรูเพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าพืชของไทยอีกทางหนึ่ง เนื่องจากมะพร้าวถือเป็นสุดยอดสินค้าที่มีความนิยมเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังถูกจัดอยู่ในประเภทสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ หรือ Superfoods ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภครับทราบถึงคุณประโยชน์ที่ดีทางด้านสุขภาพ ซึ่งทางเปรูได้ให้ความเห็นว่า มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง และแก้วมังกรจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดเปรู ในการหารือครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ส่งเสริมความร่วมมือ และขยายสินค้าเกษตรระหว่างทั้งสองประเทศให้มากยิ่งขึ้นต่อไป
อนึ่ง สาธารณรัฐเปรู ได้ยื่นขอเปิดตลาดผลทับทิมสด จากเปรูมายังประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เริ่มต้นกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าผลทับทิมสดจากเปรูแล้ว ตามแผนการดำเนินงานในปี 2566