นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและพยากรณ์ปริมาณการผลิตไม้ผล ลำไย และ ลิ้นจี่ ภาคเหนือ ปี 2566 (ข้อมูลผลพยากรณ์ ณ วันที่ 27 มี.ค.2566) โดยคาดว่า เนื้อที่ให้ผลลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ตาก แพร่ และน่าน) มีจำนวน 1.24 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1.25 ล้านไร่ หรือลดลงร้อยละ 0.31 เนื่องจากปัจจัยด้านราคาของลำไยในฤดูไม่จูงใจ เกษตรกรบางส่วนจึงโค่นลำไยเพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ได้ราคาดีแทน เช่น ยางพารา ทุเรียน เงาะ มะม่วง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้ผลผลิตลำไยทั้ง 8 จังหวัด คาดจะมีปริมาณ 1.03 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1.02 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.52) โดยแบ่งเป็นผลผลิตในฤดูจำนวน 7 แสนตัน ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 5.25 ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 709 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 1.53 เนื่องจากปัจจัยด้านราคาไม่จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา และสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงต้นปี 2566 ไม่เพียงพอต่อการออกดอกของลำไย โดยมีอากาศหนาวเย็นเพียงช่วงสั้นๆ สลับกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ประกอบกับบางพื้นที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ การแทงช่อดอกของลำไยในฤดูจึงลดลง
ขณะที่ผลผลิตนอกฤดูคาดมีจำนวน 3.29 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 15.51 ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 1,282 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 0.23 ซึ่งผลผลิตลำไยนอกฤดูที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาลำไยในช่วงปลายปี 2565 ดีขึ้น จูงใจให้เกษตรกรใช้สารกระตุ้นการออกดอกนอกฤดูเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดผลผลิตลำไยภาคเหนือจะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน และจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม ประมาณ 382,493 ตัน หรือร้อยละ 37.15 ของผลผลิตทั้งทั้งหมด
สำหรับ ลิ้นจี่ ปี 2566 ในแหล่งผลิตสำคัญ 4 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และ น่าน) เนื้อที่ให้ผล มีจำนวน 7.56 หมื่นไร่ ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 8.11 หมื่นไร่ (ลดลงร้อยละ 6.76) เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า หรือดูแลง่ายกว่าแทน เช่น ยางพารา ทุเรียน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาพรวมผลผลิต 4 จังหวัด 34,620 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 39,961 ตัน (ลดลงร้อยละ 13.37) และผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 458 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี 2565 ที่เฉลี่ย 493 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 7.10)
เนื่องจากลิ้นจี่เป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็น แต่ในปีนี้พบว่าอากาศหนาวเย็นเพียงช่วงสั้น ไม่ต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลิ้นจี่ ทำให้ลิ้นจี่แทงช่อดอกช้ากว่าปีที่ผ่านมา บางส่วนก็แตกใบอ่อนแทนการออกดอก ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรไม่ดูแลรักษา เนื่องจากลิ้นจี่เป็นพืชที่ดูแลยาก ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ช่อดอกไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ อีกทั้งพบเพลี้ยไฟและโรคเชื้อรา
ทั้งนี้ คาดผลผลิตลิ้นจี่ภาคเหนือจะเริ่มออกสู่ตลาดในเดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคม และจะออกมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนนี้ ผลผลิตรวมประมาณ 33,444 ตัน หรือร้อยละ 96.60 ของผลผลิตทั้งหมด